ข้ามไปยังเนื้อหา

ทำไมพยานพระยะโฮวาไม่ฉลองเทศกาลวันหยุดบางอย่าง?

ทำไมพยานพระยะโฮวาไม่ฉลองเทศกาลวันหยุดบางอย่าง?

 พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใช้​อะไร​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ฉลอง​เทศกาล​วัน​หยุด​หรือ​ไม่?

 เมื่อ​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ฉลอง​เทศกาล​วัน​หยุด​หรือ​ไม่ พยาน​พระ​ยะโฮวา​จะ​ค้น​ดู​คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก่อน ถ้า​เทศกาล​หรือ​การ​ฉลอง​ไหน​ขัด​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​ชัดเจน พวก​เขา​ก็​จะ​ไม่​เข้า​ร่วม แต่​ถ้า​ไม่​ขัด​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล พยาน​ฯ​แต่​ละ​คน​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​เอง เพราะ​พวก​เขา “พยายาม​อยู่​เสมอ​ที่​จะ​ไม่​ทำ​ผิด​ต่อ​พระเจ้า​หรือ​ต่อ​มนุษย์ เพื่อ​จะ​ไม่​มี​อะไร​รบกวน​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี”—กิจการ 24:16

 ต่อ​ไป​นี้​เป็น​ตัว​อย่าง​คำ​ถาม​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ถาม​ตัว​เอง​ก่อน​จะ​ตัดสิน​ใจ​ฉลอง​เทศกาล​วัน​หยุด​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง a

  •   เทศกาล​วัน​หยุด​นั้น​มี​ต้นตอ​มา​จาก​คำ​สอน​ที่​ขัด​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม?

     หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: “พระ​ยะโฮวา​จึง​สั่ง​ว่า ‘ดัง​นั้น ออก​มา​จาก​พวก​เขา​และ​แยก​อยู่​ต่าง​หาก เลิก​แตะ​ต้อง​สิ่ง​ที่​ไม่​สะอาด’”—2 โครินธ์ 6:15-17

     เพื่อ​จะ​แยก​ออก​มา​จาก​คำ​สอน​ที่​พระเจ้า​ถือ​ว่า​ไม่​สะอาด​หรือ​ไม่​ถูก​ต้อง​ตาม​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ไว้ พยาน​พระ​ยะโฮวา​จึง​ไม่​ฉลอง​เทศกาล​วัน​หยุด​ต่อ​ไป​นี้

     เทศกาล​วัน​หยุด​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​เชื่อ​หรือ​การ​นมัสการ​พระ​อื่น พระ​เยซู​บอก​ว่า “คุณ​ต้อง​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​คุณ และ​รับใช้​พระองค์​ผู้​เดียว” (มัทธิว 4:10) พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​นี้ พวก​เขา​จึง​ไม่​ฉลอง​วัน​คริสต์มาส วัน​อีสเตอร์ หรือ​วัน​แรงงาน เพราะ​มี​ต้นตอ​เกี่ยว​กับ​การ​นมัสการ​พระ​อื่น และ​พยาน​ฯ​จะ​ไม่​เข้า​ร่วม​เทศกาล​วัน​หยุด​อีก​หลาย​อย่าง เช่น

    •  ควันซา สารานุกรม Encyclopedia of Black Studies บอก​ว่า​ชื่อ​นี้ “มา​จาก​คำ​ว่า มาตุนดา ยา ควันซา ใน​ภาษา​สวาฮิลี ซึ่ง​แปล​ว่า ‘ผล​แรก’ และ​บ่ง​บอก​ว่า​เทศกาล​นี้​มี​ต้นตอ​มา​จาก​งาน​ฉลอง​การ​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล​ครั้ง​แรก​ ๆ ​ที่​บันทึก​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​ชาว​แอฟริกา” บาง​คน​จึง​มอง​ว่า​เทศกาล​นี้​ไม่​เกี่ยว​กับ​ศาสนา แต่​สารานุกรม Encyclopedia of African Religion บอก​ว่า​เทศกาล​ควัน​ซา​คล้าย​กับ​อีก​เทศกาล​หนึ่ง​ของ​ชาว​แอฟริกา​ที่​มี​การ​ถวาย​ผล​แรก​จาก​การ​เก็บ​เกี่ยว “แก่​เทพเจ้า​และ​บรรพบุรุษ​เพื่อ​เป็น​การ​ขอบคุณ” และ “เทศกาล​นี้​ยัง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​แสดง​ความ​ขอบคุณ​และ​สำนึก​บุญคุณ​สำหรับ​พร​ต่าง​ ๆ ​ที่​มา​จาก​บรรพบุรุษ​เหมือน​กับ​เทศกาล​ควัน​ซา​ของ​ชาว​อเมริกัน​เชื้อ​สาย​แอฟริกา​ด้วย”

      ควันซา

    •  เทศกาล​ไหว้​พระ​จันทร์ หรือ​เทศกาล​กลาง​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง พจนานุกรม Holidays, Festivals, and Celebrations of the World Dictionary บอก​ว่า​เทศกาล​นี้​จัด​ขึ้น “เพื่อ​ยกย่อง​บูชา​เทพ​ธิดา​แห่ง​ดวง​จันทร์” และ​มี​พิธีกรรม​ที่ “ผู้​หญิง​ใน​บ้าน​จะ​มา​คำนับ​เทพ​ธิดา​โดย​คุกเข่า​และ​ก้ม​ลง​จน​หน้าผาก​แตะ​พื้น อย่าง​ที่​ภาษา​จีน​เรียก​ว่า เคา​เทา”—สารานุกรม Religions of the World—A Comprehensive Encyclopedia of Beliefs and Practices

    •  โนรูส (เนารูซ) “ใน​ยุค​แรก​ ๆ ​เทศกาล​นี้​มา​จาก​ความ​เชื่อ​ตาม​หลัก​ศาสนา​โซโรอัสเตอร์ เป็น​การ​ฉลอง​วัน​ที่​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​สุด​วัน​หนึ่ง​ใน​ปฏิทิน​โซโรอัสเตอร์​โบราณ ... เพื่อ​ต้อนรับ​ภูติ​แห่ง​เที่ยง​วัน [ราพิทวิน] ที่​ถูก​ภูติ​แห่ง​ฤดู​หนาว​ไล่​ไป​อยู่​ใต้​ดิน​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว ซึ่ง​ตาม​ประเพณี​โซโรอัสเตอร์ เทศกาล​นี้​จะ​ฉลอง​กัน​ตอน​เที่ยง​ตรง​ของ​วัน​โน​รู​ส”—องค์การ​การ​ศึกษา วิทยาศาสตร์ และ​วัฒนธรรม​แห่ง​สหประชาชาติ

    •  ชับ ยัลดา เป็น​การ​ฉลอง​วัน​ที่​กลางคืน​ยาว​ที่​สุด​ใน​รอบ​ปี ซึ่ง​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​ลัทธิซูฟี​ของ​ศาสนา​อิสลาม (Sufism in the Secret History of Persia) อธิบาย​ว่า การ​ฉลอง​นี้ “เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​เทพ​มิทรา” ซึ่ง​เป็น​เทพ​แห่ง​แสง และ​ยัง​เชื่อ​กัน​ด้วย​ว่า​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​เทพเจ้า​แห่ง​ดวง​อาทิตย์​ของ​ชาว​โรมัน​และ​กรีก b

    •  วัน​ขอบคุณ​พระเจ้า มี​ต้นตอ​มา​จาก​การ​ฉลอง​ฤดู​เก็บ​เกี่ยว​สมัย​โบราณ​เพื่อ​ให้​เกียรติ​แก่​เทพเจ้า​หลาย​องค์​เหมือน​กับ​เทศกาล​ควัน​ซา แต่​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป “ประเพณี​โบราณ​นี้​ก็​กลาย​เป็น​เทศกาล​ของ​ชาว​คริสต์​ที่​ฉลอง​กัน​เพื่อ​ขอบคุณ​พระเจ้า”—หนังสือ A Great and Godly Adventure—The Pilgrims and the Myth of the First Thanksgiving

     เทศกาล​วัน​หยุด​ที่​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​เรื่อง​โชค​ลาง​หรือ​โชค​ลาภ คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า​คน​ที่ “ตั้ง​โต๊ะ​วาง​ของ​ถวาย​ให้​เทพ​แห่ง​โชค​ลาภ” เป็น​คน​ที่ “ละ​ทิ้ง​พระ​ยะโฮวา” (อิสยาห์ 65:11) ดัง​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​จะ​ไม่​ฉลอง​เทศกาล​วัน​หยุด​ต่อ​ไป​นี้

    •  อีวาน คูปาลา หนังสือ The A to Z of Belarus บอก​ว่า “คน​ส่วน​ใหญ่​เชื่อ​ว่า ใน​วัน [อีวาน คู​ปา​ลา] ธรรมชาติ​จะ​ปล่อย​พลัง​พิเศษ​ออก​มา ซึ่ง​สามารถ​ควบคุม​ได้​ถ้า​มี​ความ​กล้า​และ​มี​โชค” เดิม​ที​วัน​นี้​เป็น​เทศกาล​ของ​ชาว​นอก​รีต​ที่​ฉลอง​วัน​ครี​ษมา​ยัน (วัน​ที่​กลางวัน​ยาว​ที่​สุด​ใน​รอบ​ปี) แต่​สารานุกรม Encyclopedia of Contemporary Russian Culture บอก​ว่า “หลัง​จาก​คน​เหล่า​นี้​รับ​เชื่อ​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน เทศกาล​นี้​ก็​ถูก​รวม​เข้า​กับ​เทศกาล​ของ​คริสตจักร [วัน​สมโภช​นัก​บุญ​ยอห์น​แบ​ปติ​ส​บังเกิด]”

    •  ตรุษ​จีน (ตรุษ​เกาหลี) เป็น​การ​ฉลอง​ปี​ใหม่​ตาม​ปฏิทิน​จันทรคติ หนังสือ Mooncakes and Hungry Ghosts—Festivals of China บอก​ว่า “ใน​ช่วง​นี้​ของ​แต่​ละ​ปี ผู้​คน​จะ​ให้​ความ​สำคัญ​กับ​ครอบครัว เพื่อน และ​ญาติ​ ๆ มาก​เป็น​พิเศษ มี​การ​อวย​ชัย​ให้​พร การ​เซ่น​ไหว้​เทพเจ้า​และ​วิญญาณ เพื่อ​จะ​มี​โชค​มี​ลาภ​ไป​ตลอด​ทั้ง​ปี” สารานุกรม Encyclopedia of New Year’s Holidays Worldwide อธิบาย​ว่า​วัน​ปี​ใหม่​ของ​ชาว​เกาหลี​ก็​เหมือน​กัน “มี​การ​ไหว้​บรรพบุรุษ การ​ทำ​พิธี​ปัด​รังควาน​และ​พิธี​อื่น​ ๆ ​เพื่อ​จะ​มี​โชค​ดี​ใน​ปี​ใหม่ และ​การ​ทำนาย​โชค​ชะตา​สำหรับ​ปี​ที่​กำลัง​มา​ถึง”

      ตรุษ​จีน

     เทศกาล​วัน​หยุด​ที่​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​เรื่อง​วิญญาณ​อมตะ คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ชัดเจน​ว่า​ชีวิต​จบ​สิ้น​ตอน​ที่​คน​เรา​ตาย (เอเสเคียล 18:4) พยาน​พระ​ยะโฮวา​จึง​ไม่​ฉลอง​เทศกาล​วัน​หยุด​ต่อ​ไป​นี้ เพราะ​เป็น​การ​ส่ง​เสริม​ความ​เชื่อ​เรื่อง​วิญญาณ​อมตะ

    •  วัน​วิญญาณ​ใน​แดน​ชำระ (วัน​ระลึก​ถึง​ผู้​ตาย, วัน​แห่ง​ความ​ตาย) สารานุกรม New Catholic Encyclopedia บอก​ว่า วัน​นี้​เป็น​วัน “ระลึก​ถึง​คน​ดี​ทุก​คน​ที่​ล่วง​ลับ” สารานุกรม​นี้​ยัง​บอก​ด้วย​ว่า “ใน​ยุค​กลาง ผู้​คน​เชื่อ​ว่า​วิญญาณ​ที่​อยู่​ใน​แดน​ชำระ​อาจ​ปรากฏ​ตัว​เป็น​ผี แม่มด คางคก และ​อื่น​ ๆ เพื่อ​แก้แค้น​คน​ที่​ทำ​ผิด​ต่อ​พวก​เขา​ตอน​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่”

    •  เทศกาล​เช็งเม้ง​และ​เทศกาล​สารท​จีน ทั้ง​สอง​เทศกาล​เป็น​การ​แสดง​ความ​กตัญญู​ต่อ​บรรพบุรุษ​ที่​ล่วง​ลับ​และ​เซ่น​ไหว้​ภูตผี​ที่​หิว​โหย หนังสือ Celebrating Life Customs Around the World—From Baby Showers to Funerals บอก​ว่า ช่วง​เทศกาล​เช็ง​เม้ง “จะ​มี​การ​เซ่น​ไหว้​ด้วย​อาหาร เครื่อง​ดื่ม และ​เผา​กระดาษ​เงิน​กระดาษ​ทอง​ไป​ให้​คน​ตาย เพื่อ​ไม่​ให้​อดอยาก​และ​มี​เงิน​ใช้” หนังสือ​เล่ม​นี้​ยัง​บอก​ด้วย​ว่า “ใน​เดือน​เทศกาล​สารท​จีน โดย​เฉพาะ​ใน​คืน​ที่​ดวง​จันทร์​เต็ม​ดวง [เชื่อ​กัน​ว่า] วิญญาณ​คน​ตาย​จะ​ติด​ต่อ​กับ​มนุษย์​ได้​ง่าย​ที่​สุด​และ​เฮี้ยน​ที่​สุด จึง​ต้อง​มี​เทศกาล​นี้​เพื่อ​เอา​ใจ​คน​ตาย​และ​ให้​เกียรติ​บรรพบุรุษ”

    •  เทศกาล​ชูซ็อก หนังสือ​เกี่ยว​กับ​ประเพณี​เกาหลี​ชื่อ The Korean Traditi​on of Religi​on, Society, and Ethics บอก​ว่า เทศกาล​นี้​มี​พิธี “เซ่น​ไหว้​วิญญาณ​คน​ตาย​ด้วย​อาหาร​และ​เหล้า” ซึ่ง​แสดง​ถึง “ความ​เชื่อ​ที่​ว่า​วิญญาณ​ยัง​อยู่​ต่อ​ไป​หลัง​จาก​ร่าง​กาย​ตาย​แล้ว”

     เทศกาล​วัน​หยุด​ที่​เกี่ยว​กับ​ไสยศาสตร์​หรือ​เรื่อง​ลึกลับ​เหนือ​ธรรมชาติ คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “อย่า​ให้​ใคร​เป็น​ผู้​ทำนาย​โชค​ชะตา ใช้​เวทมนตร์ ถือ​โชค​ลาง และ​ทำ​ตัว​เป็น​พ่อมด อย่า​ให้​มี​คน​ทำ​คาถา​อาคม ปรึกษา​คน​ทรง​หรือ​หมอดู และ​อย่า​ติด​ต่อ​คน​ตาย เพราะ​พระ​ยะโฮวา​เกลียด​คน​ที่​ทำ​อย่าง​นี้” (เฉลย​ธรรมบัญญัติ 18:10-12) เนื่อง​จาก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ต้องการ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ไสยศาสตร์​ทุก​รูป​แบบ รวม​ทั้ง​โหราศาสตร์ (การ​ทำนาย​โชค​ชะตา​แบบ​หนึ่ง) พวก​เขา​จึง​ไม่​ฉลอง​วัน​ฮัลโลวีน หรือ​เทศกาล​ต่อ​ไป​นี้

    •  วัน​ปี​ใหม่​ของ​ชาว​ทมิฬ​และ​ชาว​สิงหล สารานุกรม Encyclopedia of Sri Lanka บอก​ว่า “พิธีกรรม​ตาม​ธรรมเนียม​ของ​การ​ฉลอง​นี้ ... มี​กิจกรรม​ทาง​โหราศาสตร์​ที่​เกี่ยว​กับ​การ​ทำนาย​ดวง​ชะตา​หรือ​หา​ฤกษ์​ยาม​ด้วย”

    •  สงกรานต์ สารานุกรม Food, Feasts, and Faith—An Encyclopedia of Food Culture in World Religions อธิบาย​ว่า ชื่อ​เทศกาล​นี้​มา​จาก​คำ​ภาษา​สันสกฤต ... ที่​แปล​ว่า ‘เคลื่อน​ที่’ หรือ ‘เปลี่ยน​แปลง’ เทศกาล​สงกรานต์​จึง​เป็น​การ​ฉลอง​วัน​ที่​ดวง​อาทิตย์​เคลื่อน​เข้า​สู่​ราศี​เมษ​ใน​จักร​ราศี”

     การ​ฉลอง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​ตาม​กฎหมาย​ของ​โมเสส แต่​ยก​เลิก​ไป​หลัง​จาก​พระ​เยซู​ตาย คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “พระ​คริสต์​ทำ​ให้​กฎหมาย​ของ​โมเสส​สิ้น​สุด​ลง” (โรม 10:4) คริสเตียน​ยัง​ได้​ประโยชน์​จาก​หลักการ​ของ​กฎหมาย​ที่​พระเจ้า​ให้​กับ​ชาว​อิสราเอล​ผ่าน​ทาง​โมเสส แต่​พวก​เขา​ไม่​ฉลอง​เทศกาล​ตาม​กฎหมาย​นั้น​แล้ว โดย​เฉพาะ​เทศกาล​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​มา​ของ​เมสสิยาห์ เพราะ​คริสเตียน​เชื่อ​ว่า​เมสสิยาห์​มา​แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “สิ่ง​เหล่า​นั้น​เป็น​แค่​เงา​ของ​สิ่ง​ที่​จะ​มี​มา แต่​ของ​จริง​มา​ทาง​พระ​คริสต์” (โคโลสี 2:17) เมื่อ​คิด​ถึง​เหตุ​ผล​นี้​และ​คิด​ถึง​ต้นตอ​ของ​หลาย​เทศกาล​ที่​ไม่​สอดคล้อง​กับ​หลัก​พระ​คัมภีร์ พยาน​พระ​ยะโฮวา​จึง​ไม่​ฉลอง​เทศกาล​ต่อ​ไป​นี้

    •  ฮานุกกาห์ เป็น​เทศกาล​ที่​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​ฉลอง​การ​อุทิศ​วิหาร​ของ​ชาว​ยิว​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​เป็น​ครั้ง​ที่​สอง แต่​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า​พระ​เยซู​มา​เป็น​มหา​ปุโรหิต ที่ “เต็นท์ [หรือ วิหาร] ที่​ยิ่ง​ใหญ่​กว่า​และ​สมบูรณ์​กว่า เป็น​เต็นท์​ที่​มนุษย์​ไม่​ได้​สร้าง​และ​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​พระเจ้า​สร้าง​ไว้​บน​โลก” (ฮีบรู 9:11) สำหรับ​คริสเตียน​แล้ว วิหาร​โดย​นัย​นี้​มา​แทน​ที่​วิหาร​ของ​ชาว​ยิว​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม

    •  รอช ฮาชานาห์ เป็น​วัน​ปี​ใหม่​หรือ​วัน​แรก​ของ​ปี​ใน​ปฏิทิน​ยิว ใน​สมัย​โบราณ​มี​การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​พิเศษ​ให้​พระเจ้า​ใน​ช่วง​เทศกาล​นี้ (กันดารวิถี 29:1-6) แต่​พระ​เยซู​คริสต์ ซึ่ง​เป็น​เมสสิยาห์ ได้​ทำ​ให้ “การ​ถวาย​สัตว์​เป็น​เครื่อง​บูชา​และ​ของ​ถวาย​ต่าง​ ๆ ถูก​ยก​เลิก​ไป” การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​เหล่า​นั้น​จึง​ไม่​มี​ประโยชน์​อีก​แล้ว​ใน​สายตา​ของ​พระเจ้า—ดาเนียล 9:26, 27

  •   เทศกาล​วัน​หยุด​นั้น​สนับสนุน​การ​ผสมผสาน​ความ​เชื่อ​ไหม?

     หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: “คน​ที่​เชื่อ​จะ​มี​อะไร​เหมือน​กับ​คน​ที่​ไม่​เชื่อ? วิหาร​ของ​พระเจ้า​จะ​มี​รูป​เคารพ​ได้​หรือ?”—2 โครินธ์ 6:15-17

     พยาน​พระ​ยะโฮวา​พยายาม​อยู่​อย่าง​สันติ​กับ​คน​อื่น​และ​ยอม​รับ​ว่า​ทุก​คน​มี​สิทธิ์​เลือก​ว่า​จะ​เชื่อ​อะไร แต่​พวก​เขา​ไม่​เข้า​ร่วม​เทศกาล​หรือ​การ​ฉลอง​ที่​สนับสนุน​การ​ผสมผสาน​ความ​เชื่อ เช่น

     เทศกาล​ที่​ยกย่อง​บุคคล​หรือ​เหตุ​การณ์​สำคัญ​ทาง​ศาสนา ซึ่ง​สนับสนุน​ให้​คน​ต่าง​ความ​เชื่อ​มา​ทำ​กิจกรรม​ทาง​ศาสนา​ด้วย​กัน ตอน​ที่​พระเจ้า​พา​ชาติ​อิสราเอล​เข้า​ไป​ใน​แผ่นดิน​ใหม่​ซึ่ง​มี​คน​ที่​นับถือ​ศาสนา​อื่น​อาศัย​อยู่ พระองค์​สั่ง​ว่า “พวก​เจ้า​อย่า​ทำ​สัญญา​กับ​พวก​เขา​หรือ​กับ​พระ​ต่าง​ ๆ ​ของ​พวก​เขา ... เพราะ​เจ้า​จะ​ไป​นมัสการ​พระ​ของ​พวก​เขา และ​นั่น​จะ​เป็น​กับดัก​ที่​ดัก​เจ้า” (อพยพ 23:32, 33) ดัง​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​จะ​ไม่​ฉลอง​วัน​หยุด​หรือ​เทศกาล​ต่อ​ไป​นี้

    •  ลอย​กระทง เป็น​เทศกาล​ของ​ชาว​ไทย สารานุกรม Encyclopedia of Buddhism บอก​ว่า “ประชาชน​จะ​ทำ​กระทง​จาก​ใบ​ไม้​หรือ​ดอกไม้ ปัก​ธูป​เทียน​ไว้​ใน​กระทง แล้ว​นำ​ไป​ลอย​ตาม​แม่น้ำ​ลำ​คลอง เชื่อ​กัน​ว่า​กระทง​นั้น​จะ​นำ​ทุกข์​โศก​โรค​ภัย​ต่าง​ ๆ ​ไป แต่​ที่​จริง​เทศกาล​นี้​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​บูชา​พระ​พุทธ​บาท​หรือ​รอย​เท้า​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​พระ​พุทธเจ้า”

    •  วัน​สารภาพ​บาป​แห่ง​ชาติ ข้าราชการ​คน​หนึ่ง​ให้​ความ​เห็น​ไว้​ใน​หนังสือ​พิมพ์ The Nati​on​al ของ​ปาปัวนิวกินี​ว่า คน​ที่​เข้า​ร่วม​เทศกาล​นี้ “ยอม​รับ​หลัก​ความ​เชื่อ​พื้น​ฐาน​ของ​ชาว​คริสต์” และ​การ​ฉลอง​นี้ “สนับสนุน​ให้​คน​ใน​ประเทศ​ใช้​หลักการ​ของ​คริสเตียน”

    •  วัน​วิสาขบูชา พจนานุกรม Holidays, Festivals, and Celebrations of the World Dictionary บอก​ว่า “วัน​นี้​เป็น​วัน​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​ชาว​พุทธ เป็น​วัน​ที่​ระลึก​ถึง​การ​ประสูติ ตรัส​รู้ และ​ปรินิพพาน​ของ​พระ​พุทธเจ้า”

      วัน​วิสาขบูชา

     การ​ฉลอง​ที่​เป็น​ประเพณี​ทาง​ศาสนา​ซึ่ง​ไม่​สอดคล้อง​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล พระ​เยซู​บอก​พวก​ผู้​นำ​ศาสนา​ว่า “พวก​คุณ​เอง​นั่น​แหละ​ที่​ทำ​ให้​คำ​สอน​ของ​พระเจ้า​ไม่​มี​ความ​หมาย​เพราะ​ธรรมเนียม​ของ​พวก​คุณ” (มัทธิว 15:6, 9) เมื่อ​คิด​ถึง​คำ​เตือน​นี้ พยาน​พระ​ยะโฮวา​จึง​ไม่​ฉลอง​เทศกาล​ทาง​ศาสนา​หลาย​อย่าง เช่น

    •  เทศกาล​เอพิฟานี (วัน​สาม​กษัตริย์, เทศกาล​ทิมกัต, ลอส เรเยส มาโกส) เป็น​การ​ฉลอง​วัน​ที่​โหร 3 คน​มา​เยี่ยม​พระ​เยซู หรือ​ฉลอง​การ​บัพติศมา​ของ​พระ​เยซู สารานุกรม The Christmas Encyclopedia บอก​ว่า​เทศกาล​นี้ “เป็น​การ​นำ​เทศกาล​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ของ​คน​นอก​ศาสนา​มา​ฉลอง​ใน​แบบ​ของ​คริสเตียน ซึ่ง​แต่​เดิม​เป็น​การ​ยกย่อง​เทพเจ้า​แห่ง​สาย​น้ำ แม่น้ำ และ​ลำธาร” สารานุกรม​อีก​เล่ม​หนึ่ง​ชื่อ Encyclopedia of Society and Culture in the Ancient World อธิบาย​ว่า​เทศกาล​ทิมกัต​ซึ่ง​มี​ลักษณะ​คล้าย​กัน​ก็ “มา​จาก​ธรรมเนียม​ประเพณี​เก่า​แก่”

    •  วัน​สมโภช​พระ​นาง​มารีย์​รับ​เกียรติ​ยก​ขึ้น​สวรรค์ เป็น​การ​ฉลอง​ซึ่ง​มา​จาก​ความ​เชื่อ​ที่​ว่า​แม่​ของ​พระ​เยซู​ได้​ขึ้น​สวรรค์​โดย​ไม่​เหลือ​ร่าง​กาย​ทิ้ง​ไว้​บน​โลก สารานุกรม Religi​on and Society—Encyclopedia of Fundamentalism บอก​ว่า “ความ​เชื่อ​นี้​ไม่​มี​การ​สอน​ใน​คริสตจักร​ยุค​แรก และ​ไม่​ได้​มา​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล”

    •  วัน​สมโภช​แม่​พระ​ปฏิสนธิ​นิ​รม​ล สารานุกรม New Catholic Encyclopedia บอก​ว่า “พระ​คัมภีร์​ไม่​มี​คำ​สอน​เรื่อง​การ​ปฏิสนธิ​นิ​รม​ล [ของ​มารีย์] โดย​ตรง แต่​คริสตจักร​คิด​คำ​สอน​นี้​ขึ้น​เอง”

    •  เทศกาล​มหา​พรต (เทศกาล​เข้า​สู่​ธรรม) เป็น​ช่วง​เวลา​ของ​การ​สำนึก​บาป​และ​อด​อาหาร สารานุกรม New Catholic Encyclopedia อธิบาย​ว่า เทศกาล​นี้​เริ่ม​ฉลอง​กัน “ใน​ศตวรรษ​ที่ 14” หลัง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​เขียน​เสร็จ 200 กว่า​ปี และ “ธรรมเนียม​การ​รับ​เถ้า​ของ​สัต​บุรุษ​ใน​วัน​พุธ​รับ​เถ้า (วัน​แรก​ของ​เทศกาล​มหา​พรต) เป็น​ธรรมเนียม​ที่​เริ่ม​ถือ​ปฏิบัติ​กัน​ตั้ง​แต่​การ​ประชุม​สภา​สงฆ์​แห่ง​เบเนเวนโต​ใน​ปี 1091”

    •  เมสเคล (มาสคาล) เป็น​เทศกาล​ของ​ชาว​เอธิโอเปีย ซึ่ง​สารานุกรม Encyclopedia of Society and Culture in the Medieval World อธิบาย​ว่า จัด​ขึ้น​เพื่อ​ฉลอง “การ​ค้น​พบ​กางเขน​แท้ (คือ​ไม้กางเขน​ที่​พระ​คริสต์​ถูก​ตรึง) ด้วย​การ​ร้อง​รำ​ทำ​เพลง​รอบ​กอง​ไฟ” แต่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ใช้​ไม้กางเขน​ใน​การ​นมัสการ

  •   เทศกาล​วัน​หยุด​นั้น​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​ยกย่อง​มนุษย์ องค์การ หรือ​สัญลักษณ์​ของ​ชาติ​ไหม?

     หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: “พระ​ยะโฮวา​พูด​ว่า ‘คน​ที่​ไว้​ใจ​มนุษย์ คน​ที่​วางใจ​ใน​กำลัง​ของ​มนุษย์ และ​คน​ที่​ทิ้ง​พระ​ยะโฮวา​จะ​ถูก​แช่ง’”—เยเรมีย์ 17:5

     พยาน​พระ​ยะโฮวา​แสดง​ความ​ขอบคุณ​เพื่อน​มนุษย์​และ​ถึง​กับ​อธิษฐาน​เพื่อ​คน​อื่น แต่​พวก​เขา​ไม่​เข้า​ร่วม​งาน​ฉลอง​หรือ​เทศกาล​ต่อ​ไป​นี้

     เทศกาล​ที่​ยกย่อง​ผู้​ปกครอง​ประเทศ​หรือ​บุคคล​สำคัญ คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “เลิก​วางใจ​ใน​มนุษย์​ได้​แล้ว เพราะ​เมื่อ​ไร​ที่​เขา​หยุด​หายใจ​เขา​ก็​ตาย เขา​จะ​ช่วย​อะไร​ได้” (อิสยาห์ 2:22) ดัง​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​จะ​ไม่​ฉลอง​วัน​หยุด​บาง​อย่าง เช่น วัน​เกิด​ของ​กษัตริย์​หรือ​ราชินี

     การ​ฉลอง​ธง​ชาติ พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ฉลอง​วัน​ธง​ชาติ เพราะ​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “อย่า​ยุ่ง​เกี่ยว​กับ​รูป​เคารพ” (1 ยอห์น 5:21) ทุก​วัน​นี้​หลาย​คน​ไม่​ถือ​ว่า​ธง​ชาติ​เป็น​รูป​เคารพ​หรือ​วัตถุ​บูชา แต่​นัก​ประวัติศาสตร์​คาร์ลตัน เจ. เอช. เฮซ เขียน​ว่า “ธง​ชาติ​เป็น​สัญลักษณ์​แห่ง​ศรัทธา​และ​เป็น​วัตถุ​บูชา​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​ลัทธิ​ชาติ​นิยม”

     การ​ฉลอง​นัก​บุญ เมื่อ​ผู้​ชาย​ที่​เกรง​กลัว​พระเจ้า​หมอบ​ลง​ทำ​ความ​เคารพ​อัครสาวก​เปโตร คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “เปโตร​จับ​ตัว​เขา​ให้​ลุก​ขึ้น​และ​พูด​ว่า ‘ลุก​ขึ้น​เถอะ ผม​เป็น​คน​ธรรมดา​เหมือน​คุณ​นั่น​แหละ’” (กิจการ 10:25, 26) เนื่อง​จาก​เปโตร​และ​อัครสาวก​คน​อื่น​ ๆ ​ทุก​คน​ไม่​ยอม​รับ​การ​ยกย่อง​ให้​เกียรติ​แบบ​พิเศษ​หรือ​การ​กราบ​ไหว้​บูชา พยาน​พระ​ยะโฮวา​จึง​ไม่​เข้า​ร่วม​กิจกรรม​หรือ​การ​ฉลอง​ที่​จัด​ขึ้น​เพื่อ​ให้​เกียรติ​แก่​นัก​บุญ เช่น​การ​ฉลอง​ต่อ​ไป​นี้

    •  วัน​สมโภช​นัก​บุญ​ทั้ง​หลาย สารานุกรม New Catholic Encyclopedia บอก​ว่า เทศกาล​นี้ “เป็น​การ​เลี้ยง​ฉลอง​เพื่อ​ให้​เกียรติ​แก่​นัก​บุญ​ทั้ง​หลาย ... ไม่​มี​ใคร​รู้​แน่ชัด​ว่า​การ​ฉลอง​นี้​เริ่ม​ต้น​มา​อย่าง​ไร”

    •  การ​ฉลอง​แม่​พระ​แห่ง​กัวดาลูป สารานุกรม The Greenwood Encyclopedia of Latino Literature บอก​ว่า เทศกาล​นี้​จัด​ขึ้น​เพื่อ​ยกย่อง “นัก​บุญ​อุปถัมภ์​ของ​เม็กซิโก” ซึ่ง​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​คือ​มารีย์​มารดา​ของ​พระ​เยซู และ​นาง​เคย​ปรากฏ​แก่​ชา​วนา​ยาก​จน​คน​หนึ่ง​เมื่อ​ปี 1531

      การ​ฉลอง​แม่​พระ​แห่ง​กัวดาลูป

    •  วัน​ฉลอง​ชื่อ หนังสือ Celebrating Life Customs Around the World—From Baby Showers to Funerals บอก​ว่า “วัน​นี้​เป็น​วัน​ฉลอง​ของ​นัก​บุญ​และ​คน​ที่​มี​ชื่อ​เดียว​กับ​นัก​บุญ​นั้น​ซึ่ง​อาจ​ได้​ชื่อ​นี้​มา​ตอน​ที่​เขา​บัพติศมา​หรือ​ตอน​ที่​เข้า​มา​รับ​เชื่อ” หนังสือ​นี้​บอก​ด้วย​ว่า “วัน​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ศาสนา​โดย​ตรง”

     การ​ฉลอง​ที่​เกี่ยว​กับ​การ​เมือง​หรือ​การ​ปฏิรูป​สังคม คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “การ​หวัง​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา ดี​กว่า​การ​วางใจ​มนุษย์” (สดุดี 118:8, 9) เพราะ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​หวัง​พึ่ง​พระเจ้า​และ​ไม่​วางใจ​มนุษย์​ให้​แก้​ปัญหา​ใน​สังคม พวก​เขา​จึง​ไม่​ฉลอง​วัน​เยาวชน หรือ​วัน​สตรี​สากล ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เมือง​หรือ​การ​ปฏิรูป​สังคม และ​ด้วย​เหตุ​ผล​เดียว​กัน พวก​เขา​ไม่​ฉลอง​วัน​เลิก​ทาส หรือ​วัน​อื่น​ ๆ ​ที่​คล้าย​กัน แต่​พวก​เขา​รอ​ให้​รัฐบาล​ของ​พระเจ้า​มา​แก้​ปัญหา​เรื่อง​เชื้อชาติ​และ​ความ​ไม่​เท่า​เทียม​ใน​สังคม—โรม 2:11; 8:21

  •   การ​ฉลอง​นั้น​ยกย่อง​ชาติ​หนึ่ง​หรือ​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​หนึ่ง​เป็น​พิเศษ​ไหม?

     หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: “พระเจ้า​ไม่​ลำเอียง พระองค์​ยอม​รับ​ทุก​คน​ที่​เกรง​กลัว​พระองค์​และ​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง ไม่​ว่า​เขา​จะ​เป็น​คน​ชาติ​ไหน​ก็​ตาม”—กิจการ 10:34, 35

     พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​คน​รัก​ประเทศ​บ้าน​เกิด​ของ​ตัว​เอง แต่​พวก​เขา​ไม่​เข้า​ร่วม​การ​ฉลอง​ที่​ยกย่อง​ชาติ​หรือ​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​ไหน​เป็น​พิเศษ เช่น

     การ​ฉลอง​ที่​ยกย่อง​ให้​เกียรติ​กองทัพ พระ​เยซู​ไม่​สนับสนุน​สงคราม​และ​ท่าน​บอก​สาวก​ว่า “ให้​รัก​ศัตรู​ของ​คุณ​และ​อธิษฐาน​เผื่อ​คน​ที่​ข่มเหง​คุณ” (มัทธิว 5:44) ดัง​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​จะ​ไม่​เข้า​ร่วม​การ​ฉลอง​ที่​ยกย่อง​ให้​เกียรติ​ทหาร และ​ไม่​ฉลอง​วัน​หยุด​ต่อ​ไป​นี้

    •  วัน​แอนแซก (Anzac) พจนานุกรม Historical Dictionary of Australia บอก​ว่า “Anzac ย่อ​มา​จาก Australian and New Zealand Army Corps (กอง​กำลัง​ทหาร​ออสเตรเลีย​และ​นิวซีแลนด์)” และ​ต่อ​มา “วัน​แอน​แซก​ค่อย​ ๆ ​เปลี่ยน​มา​เป็น​วัน​ระลึก​ถึง​คน​ที่​เสีย​ชีวิต​ใน​สงคราม”

    •  วัน​ทหาร​ผ่าน​ศึก (วัน​รำลึก​วีรชน, วัน​รำลึก​ถึง​ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ชาติ) สารานุกรม Encyclopædia Britannica บอก​ว่า​วัน​นี้​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​เป็น​เกียรติ​แก่ “ทหาร​ผ่าน​ศึก​และ​ผู้​เสีย​ชีวิต​ใน​สงคราม​ของ​ประเทศ”

     การ​ฉลอง​ที่​เกี่ยว​กับ​ประวัติศาสตร์​หรือ​เอกราช​ของ​ชาติ พระ​เยซู​พูด​ถึง​สาวก​ของ​ท่าน​ว่า “พวก​เขา​ไม่​ได้​เป็น​คน​ของ​โลก เหมือน​ที่​ผม​ไม่​ได้​เป็น​คน​ของ​โลก” (ยอห์น 17:16) พยาน​พระ​ยะโฮวา​ชอบ​เรียน​รู้​ประวัติ​ความ​เป็น​มา​ของ​แต่​ละ​ประเทศ แต่​พวก​เขา​ไม่​เข้า​ร่วม​การ​เฉลิม​ฉลอง​ของ​ชาติ​ต่าง​ ๆ เช่น

    •  วัน​ชาติ​ออสเตรเลีย สารานุกรม Worldmark Encyclopedia of Cultures and Daily Life บอก​ว่า วัน​นี้​เป็น​การ​ระลึก​ถึง “วัน​ที่​กอง​ทหาร​อังกฤษ​ชู​ธง​ชาติ​อังกฤษ​ใน​ปี 1788 และ​ประกาศ​ว่า​ออสเตรเลีย​เป็น​อาณานิคม​แห่ง​ใหม่”

    •  วัน​กาย ฟอกส์ พจนานุกรม A Dictionary of English Folklore อธิบาย​ว่า วัน​นี้​เป็น “วัน​ที่​ทั้ง​ชาติ​เฉลิม​ฉลอง​การ​ล้ม​แผน​ของ​กาย ฟอก​ส์​และ​กลุ่ม​ผู้​สม​คบ​คิด​ชาว​คาทอลิก ที่​วาง​แผน​ระเบิด​สภา​ขุนนาง [ของ​อังกฤษ] และ​ลอบ​ปลง​พระ​ชนม์​พระเจ้า​เจมส์​ที่ 1 เมื่อ​ปี 1605”

    •  วัน​ประกาศ​อิสรภาพ (วัน​ชาติ) พจนานุกรม Merriam-Webster’s Unabridged Dictionary บอก​ว่า ใน​หลาย​ประเทศ วัน​นี้​เป็น “วัน​ที่​กำหนด​ขึ้น​เพื่อ​ให้​ประชาชน​ร่วม​เฉลิม​ฉลอง​โอกาส​ครบ​รอบ​การ​ประกาศ​อิสรภาพ​ของ​ชาติ”

  •   เทศกาล​นั้น​มี​การ​ฉลอง​แบบ​เลย​เถิด​และ​ผิด​ศีลธรรม​ไหม?

     หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: “ที่​ผ่าน​มา พวก​คุณ​ใช้​ชีวิต​ตาม​ใจ​ผู้​คน​ใน​โลก​มา​มาก​พอ​แล้ว ตอน​นั้น​พวก​คุณ​ประพฤติ​ไร้​ยางอาย ปล่อย​ตัว​ไป​กับ​ความ​ต้องการ​ผิด ๆ ดื่ม​เหล้า​มาก​เกิน​ไป กิน​เลี้ยง​เฮฮา​กัน​จน​สุด​เหวี่ยง แข่ง​กัน​ดื่ม และ​ไหว้​รูป​เคารพ​ที่​น่า​เกลียด”—1 เปโตร 4:3

     เมื่อ​คิด​ถึง​หลักการ​ข้อ​นี้ พยาน​พระ​ยะโฮวา​จึง​ไม่​เข้า​ร่วม​เทศกาล​ที่​มี​การ​กิน​ดื่ม​จน​เมา​และ​ปาร์ตี้​อย่าง​สุด​เหวี่ยง พยาน​พระ​ยะโฮวา​ชอบ​สนุก​กับ​เพื่อน​ ๆ แต่​ถ้า​มี​เครื่อง​ดื่ม​แอลกอฮอล์ พวก​เขา​ก็​จะ​ไม่​ดื่ม​มาก​เกิน​ไป พวก​เขา​พยายาม​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า “ไม่​ว่า​คุณ​จะ​กิน จะ​ดื่ม หรือ​จะ​ทำ​อะไร​ก็​ตาม ให้​คุณ​ทำ​ทุก​สิ่ง​แบบ​ที่​จะ​ทำ​ให้​พระเจ้า​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​สรรเสริญ”—1 โครินธ์ 10:31

     ดัง​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​จะ​ไม่​เข้า​ร่วม​เทศกาล​คาร์นิวาล​หรือ​งาน​ฉลอง​อื่น​ ๆ ​ที่​สนับสนุน​การ​ประพฤติ​ตัว​แบบ​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ตำหนิ รวม​ทั้ง​เทศกาล​ปูริม ของ​ชาว​ยิว เพราะ​ถึง​แม้​เทศกาล​นี้​เคย​เป็น​การ​ฉลอง​วัน​ที่​ชาว​ยิว​ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​รอด​จาก​การ​ฆ่า​ล้าง​เผ่า​พันธุ์​ใน​ศตวรรษ​ที่ 5 ก่อน​คริส​ต​ศักราช แต่​หนังสือ Essential Judaism บอก​ว่า ตอน​นี้​เทศกาล​ปูริม “เรียก​ได้​ว่า​เป็น​งาน​มา​ร์​ดิก​รา​ส์​หรือ​คาร์นิวาล​ของ​ชาว​ยิว​ไป​แล้ว” เพราะ “มี​ทั้ง​การ​แต่ง​กาย​แฟน​ซี (ผู้​ชาย​มัก​จะ​แต่ง​เป็น​หญิง) ฉลอง​กัน​แบบ​สุด​เหวี่ยง ดื่ม​จน​เมา และ​ส่ง​เสียง​อึกทึก​ครึกโครม”

 พยาน​พระ​ยะโฮวา​ยัง​รัก​ครอบครัว​ไหม​แม้​พวก​เขา​ไม่​ฉลอง​เทศกาล​วัน​หยุด​บาง​อย่าง?

 รัก​แน่นอน เพราะ​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​ให้​ทุก​คน​รัก​และ​นับถือ​คน​ใน​ครอบครัว​แม้​จะ​มี​ความ​เชื่อ​ไม่​เหมือน​กัน (1 เปโตร 3:1, 2, 7) แต่​เมื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เลิก​ฉลอง​เทศกาล​หรือ​วัน​หยุด​บาง​อย่าง ญาติ​บาง​คน​อาจ​ไม่​พอ​ใจ เสียใจ หรือ​ถึง​กับ​รู้สึก​ว่า​พยาน​ฯ​ไม่​รัก​ครอบครัว​แล้ว ดัง​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​คน​จึง​พยายาม​ทำ​ให้​ญาติ​ ๆ ​มั่น​ใจ​ว่า​พวก​เขา​ยัง​รัก​ครอบครัว และ​ค่อย​ ๆ ​อธิบาย​เหตุ​ผล​ที่​ไม่​เข้า​ร่วม​อย่าง​ใจ​เย็น พยาน​ฯ​ยัง​หา​โอกาส​ไป​เยี่ยม​ครอบครัว​ใน​ช่วง​อื่น​ที่​ไม่​ใช่​เทศกาล​ด้วย

 พยาน​พระ​ยะโฮวา​ห้าม​คน​อื่น​ไม่​ให้​ฉลอง​เทศกาล​วัน​หยุด​บาง​อย่าง​ไหม?

 ไม่ พวก​เขา​เชื่อ​ว่า​แต่​ละ​คน​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​เอง (โยชูวา 24:15) พยาน​พระ​ยะโฮวา “ให้​เกียรติ​คน​ทุก​ชนิด” ไม่​ว่า​เขา​จะ​มี​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​แบบ​ไหน—1 เปโตร 2:17

a บทความ​นี้​ไม่​ได้​พูด​ถึง​เทศกาล​วัน​หยุด​ทั้ง​หมด​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ฉลอง และ​ไม่​ได้​อ้าง​ถึง​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทุก​ข้อ​ที่​เกี่ยว​ข้อง

b หนังสือ Mithra, Mithraism, Christmas Day & Yalda เขียน​โดย เค. อี. เอ​ดุล​จี หน้า 31-33