ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เลอแฟฟร์ เดตาป—เขา​อยาก​ให้​ประชาชน​รู้​จัก​ถ้อย​คำ​ของ​พระเจ้า

เลอแฟฟร์ เดตาป—เขา​อยาก​ให้​ประชาชน​รู้​จัก​ถ้อย​คำ​ของ​พระเจ้า

เช้า​วัน​อาทิตย์​ของ​ต้น​ทศวรรษ 1520 ชาว​เมือง​โม​เมือง​เล็ก ๆ ใกล้​กรุง​ปารีส​แทบ​ไม่​เชื่อ​หู​ตัว​เอง​เมื่อ​ได้​ยิน​สิ่ง​ที่​อ่าน​ใน​โบสถ์ พวก​เขา​ได้​ยิน​การ​อ่าน​หนังสือ​ข่าว​ดี​ใน​ภาษา​ของ​พวก​เขา​เอง นั่น​คือ​ภาษา​ฝรั่งเศส​ไม่​ใช่​ภาษา​ละติน

ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​งาน​นี้​คือ ชากส์ เลอแฟฟร์ เดตาป (ภาษา​ละติน​คือ​ยา​โค​บัส ฟาเบอร์ สเตพูเลนซิส) ซึ่ง​ต่อ​มา​ได้​เขียน​จดหมาย​ถึง​เพื่อน​สนิท​ว่า “คุณ​คิด​ไม่​ถึง​หรอก​ว่า​พระเจ้า​กำลัง​ช่วย​ประชาชน​คน​ธรรมดา​ให้​เข้าใจ​ถ้อย​คำ​ของ​พระองค์”

ใน​เวลา​นั้น คริสตจักร​คาทอลิก​กับ​นัก​เทววิทยา​ใน​กรุง​ปารีส​ต่อ​ต้าน​การ​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ที่​คน​ทั่ว​ไป​ใช้​กัน แล้ว​อะไร​กระตุ้น​เลอ​แฟฟร์​ให้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ฝรั่งเศส? และ​เขา​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ช่วย​ประชาชน​ให้​เข้าใจ​ถ้อย​คำ​ของ​พระเจ้า?

ค้น​หา​ความ​หมาย​ที่​แท้​จริง​ของ​พระ​คัมภีร์

ก่อน​ที่​เลอ​แฟฟร์​จะ​มา​เป็น​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล เขา​ทุ่มเท​ศึกษา​ค้นคว้า​ความ​หมาย​ดั้งเดิม​ของ​ข้อ​เขียน​ทาง​ปรัชญา​และ​วิชา​ศาสนา เขา​สังเกต​ว่า​ข้อ​ความ​สมัย​โบราณ​มัก​จะ​ถูก​เปลี่ยน​แปลง​เพราะ​แปล​ผิด เพื่อ​จะ​ได้​ความ​หมาย​ที่​แท้​จริง​ของ​ข้อ​เขียน​โบราณ เขา​จึง​เริ่ม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​มาตรฐาน​ของ​คาทอลิก​คือ​ฉบับ​ละติน​วัลเกต อย่าง​ละเอียด

เขา​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​จริงจัง​จน​ทำ​ให้​ได้​ข้อ​สรุป​ว่า “การ​ศึกษา​ความ​จริง​ของ​พระเจ้า​เท่า​นั้น​ทำ​ให้​พบ . . . ความ​สุข​ที่​แท้​จริง” ดัง​นั้น เลอ​แฟฟร์​จึง​เลิก​ศึกษา​หลัก​ปรัชญา​แล้ว​ทุ่มเท​ให้​กับ​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล

ใน​ปี ค.ศ. 1509 เลอ​แฟฟร์​ตี​พิมพ์​การ​ศึกษา​เปรียบ​เทียบ​หนังสือ​สดุดี​ภาษา​ละติน 5 ฉบับ​แปล * รวม​ทั้ง​ฉบับ​วัลเกต ที่​เขา​แก้ไข​เอง ไม่​เหมือน​นัก​เทววิทยา​ใน​สมัย​ของ​เขา เขา​พยายาม​ค้น​หา “ความ​หมาย​แท้” ของ​ข่าวสาร​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล วิธี​แปล​พระ​คัมภีร์​ของ​เขา​มี​อิทธิพล​อย่าง​มาก​ต่อ​ผู้​เชี่ยวชาญ​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​นัก​ปฏิรูป​คน​อื่น ๆ—ดู​กรอบ “ มาร์ติน ลูเทอร์​ได้​รับ​อิทธิพล​อย่าง​ไร​จาก​เลอ​แฟฟร์

ตาราง​ชื่อ​ตำแหน่ง​ที่​ใช้​กับ​พระเจ้า​ใน​หนังสือ​สดุดี​จาก​หนังสือ Fivefold Psalter ฉบับ​ปี 1513

เลอ​แฟฟร์​เป็น​คาทอลิก​ตั้ง​แต่​เกิด เขา​มั่น​ใจ​ว่า​การ​ปฏิรูป​คริสตจักร​จะ​เกิด​ขึ้น​ได้​ถ้า​ประชาชน​ทั่ว​ไป​ได้​รับ​การ​สอน​อย่าง​ถูก​ต้อง​จาก​พระ​คัมภีร์​เท่า​นั้น แต่​คน​ทั่ว​ไป​จะ​ได้​ประโยชน์​จาก​พระ​คัมภีร์​ได้​อย่าง​ไร​ใน​เมื่อ​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ภาษา​ละติน?

การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ทุก​คน​เข้าใจ​ได้

คำนำ​ใน​หนังสือ​ข่าว​ดี​ยืน​ยัน​ว่า​เลอแฟฟร์​อยาก​ให้​ทุก​คน​ได้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ของ​ตัว​เอง

เลอ​แฟฟร์​รัก​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก​จน​อยาก​จะ​ให้​ประชาชน​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​สามารถ​หา​คัมภีร์​ไบเบิล​อ่าน​ได้ เพื่อ​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ใน​เดือน​มิถุนายน ปี ค.ศ. 1523 เขา​จึง​พิมพ์​หนังสือ​ข่าว​ดี​เป็น​ภาษา​ฝรั่งเศส​ฉบับ​พก​พา 2 ชุด ฉบับ​เล็ก​นี้​ราคา​แค่​ครึ่ง​เดียว​ของ​ฉบับ​มาตรฐาน​เท่า​นั้น ทำ​ให้​คน​จน​มี​สิทธิ์​ซื้อ​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​อ่าน​ได้

ประชาชน​สนใจ​ตอบรับ​ฉบับ​แปล​นี้​ทันที ทั้ง​ผู้​ชาย​และ​ผู้​หญิง​ต่าง​ก็​อยาก​อ่าน​คำ​สอน​ของ​พระ​เยซู​ใน​ภาษา​ของ​ตัว​เอง ทำ​ให้​ฉบับ​ตี​พิมพ์​ครั้ง​แรก​จำนวน 1,200 ฉบับ​ขาย​หมด​ภาย​ใน​ไม่​กี่​เดือน

ยืนหยัด​กล้า​หาญ​เพื่อ​คัมภีร์​ไบเบิล

ใน​คำนำ​ของ​หนังสือ​ข่าว​ดี เลอ​แฟฟร์​อธิบาย​ว่า​เขา​แปล​เป็น​ภาษา​ฝรั่งเศส​เพื่อ “สมาชิก​ที่​ต่ำต้อย” ของ​โบสถ์ “จะ​มั่น​ใจ​ว่า​คำ​สอน​ของ​พระ​คริสต์​เป็น​ความ​จริง​เหมือน​กับ​ที่​ผู้​อ่าน​ภาษา​ละติน​มั่น​ใจ” แต่​ทำไม​เลอ​แฟฟร์​ต้องการ​ช่วย​ประชาชน​ให้​รู้​จัก​คำ​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก​ขนาด​นั้น?

เลอ​แฟฟร์​รู้​ดี​ว่า​คำ​สอน​และ​ปรัชญา​ของ​มนุษย์​ส่ง​ผล​เสีย​ต่อ​คริสตจักร​คาทอลิก​มาก​ขนาด​ไหน (มาระโก 7:7; โคโลสี 2:8) และ​เขา​มั่น​ใจ​ว่า​ถึง​เวลา​แล้ว​ที่​หนังสือ​ข่าว​ดี​จะ​ต้อง​ถูก “ประกาศ​ไป​ทั่ว​โลก​เพื่อ​ผู้​คน​จะ​ไม่​ถูก​หลัก​คำ​สอน​ของ​มนุษย์​พา​ไป​ผิด​ทาง​อีก”

เลอ​แฟฟร์​ยัง​พยายาม​เปิดโปง​ข้อ​โต้​แย้ง​ผิด ๆ ของ​คน​ที่​ต่อ​ต้าน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ฝรั่งเศส​ด้วย เขา​ตำหนิ​ความ​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ว่า “พวก​เขา​จะ​สอน [ประชาชน] ให้​ทำ​ตาม​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​สอน​ได้​อย่าง​ไร ถ้า​พวก​เขา​ไม่​เต็ม​ใจ​ให้​ชาว​บ้าน​ธรรมดา​เห็น​และ​อ่าน​ข่าว​ดี​ของ​พระเจ้า​ใน​ภาษา​ของ​ตัว​เอง?”—โรม 10:14

ใน​ที่​สุด นัก​เทววิทยา​ใน​มหาวิทยาลัย​ซอร์บอนน์​กรุง​ปารีส​พยายาม​จะ​หยุด​เลอ​แฟฟร์ ใน​เดือน​สิงหาคม ปี ค.ศ. 1523 พวก​เขา​ต่อ​ต้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ภาษา​ท้องถิ่น​และ​หนังสือ​อธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล พวก​เขา​มอง​หนังสือ​เหล่า​นั้น​ว่า​เป็น “ภัย​ต่อ​คริสตจักร” ถ้า​กษัตริย์​ฟรานซิส​ที่ 1 แห่ง​ฝรั่งเศส​ไม่​เข้า​มา​ช่วย เลอ​แฟฟร์​คง​ถูก​ตัดสิน​ว่า​เป็น​พวก​นอก​รีต

ผู้​แปล​ที่ “เงียบ” ทำ​งาน​ของ​เขา​จน​เสร็จ

เลอ​แฟฟร์​ไม่​ยอม​ให้​การ​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง​มา​หยุด​ยั้ง​งาน​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล ใน​ปี ค.ศ. 1524 หลัง​จาก​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​เสร็จ (ที่​เรียก​กัน​ว่า​พันธสัญญา​ใหม่) เขา​ก็​ออก​หนังสือ​สดุดี​ภาษา​ฝรั่งเศส เพื่อ​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​จะ​อธิษฐาน “ด้วย​ความ​เลื่อมใส​และ​มี​ความ​เชื่อ​มาก​ขึ้น”

พวก​นัก​เทววิทยา​ที่​วิทยาลัย​ซอร์บอนน์​รีบ​ตรวจ​สอบ​งาน​แปล​ของ​เลอ​แฟฟร์​อย่าง​ละเอียด แล้ว​ก็​สั่ง​ให้​เผา​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​ของ​เลอ​แฟฟร์​ต่อ​หน้า​สาธารณชน และ​ประณาม​ข้อ​เขียน​อื่น ๆ ของ​เขา​ว่า “สนับสนุน​คำ​สอน​นอก​รีต​ของ​ลูเทอร์” เมื่อ​พวก​เทววิทยา​เรียก​ตัว​เลอ​แฟฟร์​มา​ให้​การ เขา​เลือก​ที่​จะ “เงียบ” ต่อ​และ​หนี​ไป​ที่​สตราสบูร์ก เขา​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​นั่น​ต่อ​ไป​อย่าง​ระวัง​ตัว แม้​ว่า​บาง​คน​มอง​ว่า​เขา​ไม่​มี​ความ​กล้า แต่​เขา​เชื่อ​ว่า​นี่​เป็น​วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​รับมือ​กับ​คน​ที่​ไม่​เห็น​ค่า​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เป็น​เหมือน “ไข่มุก”—มัทธิว 7:6

หลัง​จาก​ลี้​ภัย​กลับ​มา​ได้​เกือบ 1 ปี กษัตริย์​ฟรานซิส​ที่ 1 แต่ง​ตั้ง​เลอ​แฟฟร์​ให้​เป็น​ครู​ส่วน​ตัว​ของ​ชาลส์​ลูก​ชาย​วัย 4 ขวบ​ของ​กษัตริย์ งาน​นี้​ทำ​ให้​เขา​มี​เวลา​มาก​พอ​ที่​จะ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​เสร็จ ใน​ปี ค.ศ. 1530 งาน​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​ของ​เขา​ก็​ได้​รับ​การ​ตี​พิมพ์​นอก​ฝรั่งเศส ใน​เมือง​แอนท์เวิร์ป โดย​การ​อนุมัติ​จาก​จักรพรรดิ​ชาลส์​ที่ 5 *

ความ​หวัง​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​จบ​ลง​ด้วย​ความ​เสียใจ

เลอ​แฟฟร์​หวัง​มา​ตลอด​ชีวิต​ว่า​คริสตจักร​จะ​เลิก​ทำ​ตาม​ธรรมเนียม​ของ​มนุษย์​และ​กลับ​ไป​หา​ความ​รู้​ที่​บริสุทธิ์​จาก​พระ​คัมภีร์ เขา​เชื่อ​มั่น​ว่า “ที่​จริง หน้า​ที่​ที่​ถูก​ต้อง​ของ​คริสเตียน​ทุก​คน​คือ​ต้อง​อ่าน​และ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ส่วน​ตัว” นี่​คือ​เหตุ​ผล​ที่​เขา​พยายาม​อย่าง​มาก​เพื่อ​ให้​ทุก​คน​ได้​มี​คัมภีร์​ไบเบิล แม้​จะ​ผิด​หวัง​ที่​คริสตจักร​ไม่​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​ที่​เขา​อยาก​ให้​เป็น แต่​มรดก​ของ​เลอ​แฟฟร์​ยัง​คง​อยู่ เขา​ได้​ช่วย​ประชาชน​ให้​รู้​จัก​ถ้อย​คำ​ของ​พระเจ้า

^ วรรค 8 หนังสือ Fivefold Psalter รวบ​รวม​ข้อ​ความ​จาก​หนังสือ​สดุดี 5 ฉบับ​แปล ข้อ​ความ​ของ​แต่​ละ​ฉบับ​แปล​ถูก​เรียง​เป็น​คอลัมน์ และ​มี​ตาราง​ชื่อ​ตำแหน่ง​ของ​พระเจ้า รวม​ถึง​เททรากรัมมาทอน​ซึ่ง​เป็น​อักษร​ฮีบรู 4 ตัว​ที่​หมาย​ถึง​ชื่อ​พระเจ้า

^ วรรค 21 อีก 5 ปี​ต่อ​มา​คือ​ใน​ปี ค.ศ. 1535 ผู้​แปล​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ​โอลีเวตอง​ได้​ออก​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ของ​เขา​เอง​โดย​อาศัย​ภาษา​เดิม ช่วง​ที่​โอลีเวตอง​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​เขา​พึ่ง​งาน​ของ​เลอ​แฟฟร์​เป็น​หลัก