ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ต้นไม้จริง ๆ หรือนี่?

ต้นไม้จริง ๆ หรือนี่?

ต้น​ไม้​จริง ๆ หรือ​นี่?

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

ต้น​ออสเตรเลียนโบอับ​ที่​มี​ลักษณะ​อ้วน​ป้อม หรือ​ที่​เรียก​กัน​ด้วย​ว่า​ต้น​ขวด ซึ่ง​งอก​ขึ้น​ใน​แถบ​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​หิน​ขรุขระ​และ​แห้ง​แล้ง อาจ​ดู​ประหลาด​หรือ​ถึง​กับ​อัปลักษณ์​ด้วย​ซ้ำ. ใน​ช่วง​ฤดู​แล้ง​ที่​ไร้​ใบ ต้น​โบอับ​ก็​ยิ่ง​ดู​เหมือน​กับ​สัตว์​ประหลาด​ที่​มี​หนวด​ยื่น​ขึ้น​ไป​กลาง​ท้องฟ้า​มาก​กว่า​จะ​ดู​เหมือน​ต้น​ไม้​เสีย​อีก. ตำนาน​ของ​ชาว​อะบอริจินี​บอก​ว่า ต้น​ไม้​นี้​ต้อง​คำ​สาป​และ​ถูก​กลับ​ด้าน​ให้​ราก​ชี้​ฟ้า!

ขณะ​ที่​ยัง​เล็ก ต้น​ไม้​นี้​จะ​ค่อนข้าง​ผอม​บาง​และ​ดู​สวย. แต่​เมื่อ​มัน​แก่ ลำ​ต้น​สี​เทา​ของ​มัน​จะ​ใหญ่​ขึ้น​จน​อวบ​อ้วน, ปริ​แตก, และ​เป็น​ริ้ว​รอย. จอร์จ เกรย์ นัก​สำรวจ​คน​หนึ่ง​เขียน​ไว้​ใน​ปี 1837 ว่า ลักษณะ​ภาย​นอก​ของ​มัน​ดู​เหมือน​กับ​มัน “เป็น​โรค​อะไร​บาง​อย่าง.” ทำไม​โบอับ​จึง​แตกต่าง​อย่าง​มาก​จาก​ต้น​ไม้​อื่น ๆ ส่วน​ใหญ่ และ​ทำไม​มัน​จึง​เป็น​ต้น​ไม้​ที่​ถือ​ว่า​มี​คุณค่า​และ​เป็น​ที่​รักใคร่​ของ​ชาว​ชนบท​ที่​ห่าง​ไกล รวม​ทั้ง​ชาว​อะบอริจินี​ด้วย?

ยิ่ง​สั้น​ยิ่ง​ดี

ต้น​โบอับ​งอก​ขึ้น​เอง​ตาม​ธรรมชาติ​ใน​แอฟริกา, มาดากัสการ์, และ​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​ออสเตรเลีย. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​ขณะ​ที่​ประเทศ​อื่น ๆ ส่วน​ใหญ่​เรียก​ต้น​ไม้​นี้​ว่า​บาโอบับ แต่​ชาว​ออสเตรเลีย​เรียก​มัน​มา​นาน​แล้ว​ว่า โบอับ. คน​ใน​ท้องถิ่น​เล่า​เรื่อง​ขำ ๆ ว่า ชน​เผ่า​พื้นเมือง​ชอบ​ตัด​ชื่อ​ให้​สั้น​ลง เพราะ​ถ้า​เปิด​ปาก​นาน​ก็​เป็น​ไป​ได้​ว่า​แมลงวัน​ที่​มัก​บิน​อยู่​แถว​นั้น​จะ​บิน​เข้า​ปาก​พวก​เขา. ด้วย​เหตุ​นี้ พวก​เขา​จึง​ตัด​ชื่อ​บาโอบับ​เหลือ​เพียง​โบอับ และ​ชื่อ​ใหม่​นี้​ก็​กลาย​เป็น​คำ​ภาษา​ถิ่น​คำ​หนึ่ง.

นอก​จาก​นี้​โบอับ​ยัง​ถูก​เรียก​ว่า​ต้น​หนู​ตาย. ทำไม​จึง​มี​การ​ตั้ง​ชื่อ​ที่​น่า​เกลียด​เช่น​นั้น? เมื่อ​มอง​จาก​ระยะ​ไกล ฝัก​ที่​ห้อย​อยู่​บน​ต้น​นั้น​ดู​คล้าย​กับ​หนู​ตาย​ที่​ถูก​ผูก​หาง​ให้​ห้อย​หัว​ลง​มา. นอก​จาก​นี้ เมื่อ​ดอก​ช้ำ​และ​เริ่ม​เน่า ไม่​นาน​มัน​ก็​จะ​ส่ง​กลิ่น​เหม็น​คล้าย​กับ​กลิ่น​เนื้อ​เน่า. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดอก​ที่​สมบูรณ์​ดี​จะ​มี​ขนาด​ใหญ่, ขาว, และ​หอม.

ถูก​ออก​แบบ​ให้​ทน​ได้​ทุก​สภาวะ

โบอับ​เจริญ​งอกงาม​ใน​แถบ​คิม​เบอร์ลีย์​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล​ใน​รัฐ​เวสเทิร์นออสเตรเลีย และ​ใน​นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี รัฐ​ที่​มี​พรม​แดน​ติด​กัน. ที่​นั่น​มี​การ​ผลัด​เปลี่ยน​ฤดู​ระหว่าง​ฤดู​ฝน​ที่​มี​ช่วง​เวลา​ค่อนข้าง​สั้น​ซึ่ง​มา​พร้อม​กับ​ลม​มรสุม และ​ฤดู​แล้ง.

ความ​สามารถ​ใน​การ​ฟื้น​ตัว​ของ​โบอับ​เป็น​ที่​เลื่อง​ลือ. บ่อย​ครั้ง​พวก​มัน​มี​อายุ​อยู่​ได้​นาน​เป็น​เวลา​หลาย​ศตวรรษ. ดี. เอ. เฮิร์น นัก​สรีรวิทยา​พืช กล่าว​ว่า “แม้​ว่า​ต้น​ไม้​นี้​จะ​ถูก​ไฟ​เผา​จน​โหว่​เป็น​ช่อง หรือ​ถูก​ควั่น​ลอก​เปลือก​รอบ​ลำ​ต้น มัน​ก็​มัก​จะ​ไม่​ตาย และ​หลัง​จาก​ที่​มัน​ซ่อมแซม​ส่วน​ที่​เสียหาย​แล้ว มัน​ก็​เจริญ​งอกงาม​ต่อ​ไป.” * เขา​กล่าว​เพิ่ม​เติม​ว่า “ต้น​ไม้​นี้​แข็งแรง​และ​ทนทาน​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​ว่า​ถ้า​มัน​ไม่​ได้​ถูก​ทำลาย​อย่าง​สิ้น​ซาก มัน​ก็​แทบ​จะ​เจริญ​เติบโต​ต่อ​ไป​ได้​ตาม​ปกติ.” ด้วย​ความ​มุ่ง​มั่น​ที่​จะ​ต้อง​รอด​ชีวิต​ให้​ได้ โบอับ​ต้น​หนึ่ง​ที่​ถูก​ใส่​ไว้​ใน​ลัง​เพื่อ​รอ​การ​ขน​ส่ง​ทาง​ทะเล ได้​หยั่ง​ราก​ของ​มัน​ผ่าน​ทาง​ช่อง​ต่าง ๆ ระหว่าง​ลัง​ไม้​และ​ชอน​ไช​ลง​ไป​ใน​ดิน​ใต้​ลัง​นั้น!

ต้น​โบอับ​เจริญ​เติบโต​ใน​ก้น​ลำธาร​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ชั้น​หิน, ตาม​หิน​ผา​ชัน, หรือ​ที่​ราบ​ซึ่ง​มี​แต่​ทราย และ​มัก​จะ​สูง​กว่า​ต้น​ไม้​อื่น​ที่​อยู่​ใน​ละแวก​นั้น. ใน​ที่​ราบ​สูง​คิมเบอร์ลีย์ โบอับ​บาง​ต้น​สูง​ถึง 25 เมตร​หรือ​มาก​กว่า​นั้น และ​เส้น​รอบ​วง​ของ​มัน​แทบ​จะ​มี​ขนาด​เท่า​กับ​ความ​สูง.

เคล็ดลับ​เบื้อง​หลัง​ความ​อวบ​อ้วน​ของ​มัน​ก็​คือ​น้ำ. เช่น​เดียว​กับ​ฟองน้ำ โบอับ​มี​เนื้อ​ไม้​ที่​อ่อน, เป็น​เส้นใย, และ​สามารถ​เก็บ​กัก​ของ​เหลว​ได้​ปริมาณ​มหาศาล. หลัง​จาก​ดูด​ซับ​น้ำ​ฝน​ที่​มา​พร้อม​กับ​ลม​มรสุม ลำ​ต้น​ของ​มัน​จะ​พอง​ตัว​ขึ้น​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด. พอ​ถึง​ฤดู​แล้ง ลำ​ต้น​ของ​มัน​ก็​ค่อย ๆ แฟบ​ลง​เท่า​กับ​ขนาด​เดิม​ของ​มัน​ก่อน​หน้า​นั้น.

ระหว่าง​ช่วง​ฤดู​หนาว​อัน​ทารุณ ไม้​ผลัด​ใบ​จะ​รอด​ชีวิต​อยู่​ได้​ด้วย​การ​ทิ้ง​ใบ. สำหรับ​โบอับ การ​ผลัด​ใบ​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​ฤดู​แล้ง​อัน​ยาว​นาน. พอ​สิ้น​ฤดู​แล้ง ดอก​จะ​ผลิ​ออก​มา​และ​ใบ​ที่​งอก​ขึ้น​ใหม่​ก็​เติบโต​อย่าง​รวด​เร็ว. เนื่อง​จาก​การ​งอกงาม​ครั้ง​ใหม่​นี้​เป็น​การ​ประกาศ​อย่าง​ชัด​แจ้ง​ว่า​ฤดู​ฝน​กำลัง​ใกล้​เข้า​มา บาง​ครั้ง​ผู้​คน​ใน​ท้องถิ่น​จึง​เรียก​ต้น​โบอับ​ว่า ต้น​ปฏิทิน.

ดอก​ของ​มัน​จะ​บาน​เฉพาะ​ใน​ตอน​กลางคืน​แล้ว​ก็​อยู่​ได้​แค่​ไม่​กี่​ชั่วโมง​เท่า​นั้น และ​มัน​เริ่ม​เหี่ยว​เฉา​หลัง​จาก​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น. ฝัก​ที่​แก่​แล้ว​จะ​กลาย​เป็น​ผล​ที่​มี​เมล็ด​ขนาด​ใหญ่​คล้าย​ผล​ฟัก ซึ่ง​ตก​ลง​พื้น​ดิน, แตก​ออก​จาก​กัน, แล้ว​เมล็ด​ก็​กระจาย​ไป​ทั่ว.

ต้น​ไม้​แห่ง​ชีวิต

นาน​มา​แล้ว​ที่​ชาว​อะบอริจินี​ใน​แถบ​คิม​เบอร์ลีย์​ถือ​ว่า​โบอับ​เป็น​แหล่ง​อาหาร​ที่​สำคัญ​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เมล็ด, ใบ, ยาง, และ​ราก. ก่อน​ที่​มัน​จะ​แห้ง เมล็ด​จะ​มี​เนื้อ​นุ่ม ๆ สี​ขาว​ซึ่ง​มี​รสชาติ​อร่อย. ใน​ช่วง​ที่​แห้ง​แล้ง ชาว​อะบอริจินี​จะ​เคี้ยว​เนื้อ​ไม้​ที่​มี​ลักษณะ​เป็น​เส้นใย​และ​เคี้ยว​ราก​ของ​มัน ซึ่ง​ทำ​ให้​ได้​รับ​ความ​ชุ่ม​ชื้น​อัน​เป็น​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​มาก. ระหว่าง​ช่วง​ที่​ฝน​ตก​ชุก บาง​ครั้ง​ชน​พื้นเมือง​เหล่า​นี้​จะ​พบ​ว่า​มี​น้ำ​ฝน​ขัง​อยู่​ตาม​โพรง​ต้น​ไม้ หรือ​ส่วน​ที่​เป็น​โคน​กิ่ง.

ใน​ปี 1856 เมื่อ​สมาชิก​ใน​คณะ​นัก​สำรวจ​ของ​ออกุสตุส เกรกอรี ที่​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​แถบ​ที่​ราบ​สูง​คิม​เบอร์ลีย์​เกิด​ป่วย​ด้วย​โรค​ลักปิดลักเปิด พวก​เขา​ได้​เอา​ส่วน​ที่​เป็น​เนื้อ​ใน​ของ​ผล​โบอับ​มา​ต้ม​เพื่อ​ทำ “แยม​รส​อร่อย.” เนื้อ​ใน​ของ​ผล​ที่​อุดม​ด้วย​วิตามิน​ซี​ทำ​ให้​คน​เหล่า​นั้น​หาย​เป็น​ปกติ​ใน​เวลา​ไม่​นาน​นัก.

ประตู​สู่​อดีต

ใน​อดีต ชาว​อะบอริจินี​และ​ชาว​ยุโรป​ชอบ​ใช้​ต้น​โบอับ​เป็น​กระดาน​ข่าว. ใน​ปี 1820 เมอร์เมด เรือ​ที่​ใช้​ใน​การ​สำรวจ​ทาง​ทะเล​มา​ขึ้น​หาด​ที่​บริเวณ​ชายฝั่ง​คิม​เบอร์ลีย์​เพื่อ​ทำ​การ​ซ่อมแซม. โดย​เชื่อ​ฟัง​คำ​สั่ง​ของ​แม่ทัพ​เรือ​ที่​ให้​ทิ้ง​หลักฐาน​ที่​แน่ชัด​บาง​อย่าง​ไว้​เพื่อ​แสดง​ว่า​พวก​เขา​เคย​มา​ขึ้น​ฝั่ง​ที่​นั่น ฟิลิป ปาร์เกอร์ คิง ผู้​บัญชา​การ​บน​เรือ​ลำ​นั้น​ได้​สลัก​ข้อ​ความ​ว่า “เอชเอ็มซี เมอร์เมด 1820” บน​ต้น​โบอับ​ขนาด​ยักษ์​ต้น​หนึ่ง.

ใน​เวลา​นั้น ต้น​เมอร์เมด ตาม​ที่​เรียก​กัน​นั้น วัด​เส้น​รอบ​วง​ได้​ประมาณ 8.8 เมตร. ปัจจุบัน​เส้น​รอบ​วง​ของ​มัน​วัด​ได้​ประมาณ 12.2 เมตร. แม้​ว่า​ตอน​นี้​จะ​มอง​เห็น​ได้​ไม่​ชัดเจน​นัก แต่​คำ​จารึก​นั้น​ก็​เป็น​อนุสรณ์​ถึง​นัก​สำรวจ​ใน​ยุค​แรก ๆ. ข้อ​ความ​ที่​แกะ​สลัก​ลึก​ลง​บน​ต้น​โบอับ​ที่​เก่า​แก่​บาง​ต้น​ยัง​คง​เห็น​ได้​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้ และ​นัก​ท่อง​เที่ยว​จาก​ทั่ว​โลก​ก็​ได้​ไป​ชม​กัน.

เมื่อ​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ชาว​ยุโรป​มา​ถึง​ที่​ราบ​สูง​คิมเบอร์ลีย์ โบอับ​ต้น​ยักษ์​ก็​กลาย​เป็น​ป้าย​บอก​ทาง, ที่​นัด​พบ, ที่​ตั้ง​แคมป์​ใน​ดินแดน​ที่​ไม่​ค่อย​มี​ใคร​รู้​จัก. คน​เลี้ยง​สัตว์​ที่​เดิน​ทาง​รอน​แรม​ก็​ให้​ฝูง​ปศุสัตว์​ของ​พวก​เขา​นอน​พัก​ใต้​ต้น​โบอับ​ที่​มี​ชื่อ​สวย​หรู​เขียน​ติด​ไว้​อย่าง​เช่น โรงแรม​โอเรียนเต็ล, โรงแรม​คลับโฮเทล, หรือ​โรงแรม​รอแยลโฮเทล.

เมื่อ​ชาว​อะบอริจินี​ที่​เป็น​ปฏิปักษ์​ขโมย​เรือ​ของ​เอากุส ลูคานุส ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ชาว​เยอรมัน ใน​ปี 1886 คณะ​นัก​เดิน​ทาง​ของ​เขา​จำ​ต้อง​เดิน​เป็น​ระยะ​ทาง 100 กิโลเมตร​เพื่อ​จะ​ไป​ถึง​เมือง​วินด์แฮม. แม่น้ำ​และ​ลำธาร​ที่​มี​จระเข้​ชุกชุม​ก็​อยู่​ใน​เส้น​ทาง​ของ​พวก​เขา. ลูคานุส​เขียน​ใน​ภาย​หลัง​ว่า เขา​และ​คณะ​ทราบ​จาก​สมุด​บันทึก​ของ​นัก​สำรวจ​คน​หนึ่ง​ใน​ยุค​แรก ๆ ที่​เขียน​ไว้​ว่า “เขา​ได้​ฝัง​เครื่อง​มือ​บาง​อย่าง​ของ​ช่าง​ไม้​ไว้​ใกล้ ๆ กับ​น้ำพุ​พิตต์​ใต้​ต้น​โบอับ​ใหญ่​ต้น​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ชื่อ​ของ​เขา​สลัก​ไว้.” น่า​ทึ่ง​ที่​ว่า นัก​เดิน​ทาง​คณะ​นั้น​หา​ต้น​โบอับ​และ​เครื่อง​มือ​ต่าง ๆ พบ. แล้ว​พวก​เขา​ก็ “โค่น​ต้น​โบอับ​ยักษ์​ที่​แข็งแรง​ต้น​หนึ่ง​ลง” และ​สร้าง​เรือ​แคนู​ลำ​หนึ่ง​เสร็จ​ภาย​ใน​ห้า​วัน. มัน​ลอย​น้ำ​ได้​ดี​ที​เดียว และ​ทำ​ให้​ทุก​คน​กลับ​ถึง​บ้าน​อย่าง​ปลอด​ภัย.

โบอับ​สอง​ต้น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ที่​สุด​ก็​คือ​ต้น​ที่​เรียก​กัน​ว่า ต้น​คุก​ดาร์​บี​และ​ต้น​คุกวินด์แฮม ทั้ง​สอง​ชื่อ​นี้​ถูก​เรียก​ตาม​ชื่อ​เมือง​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ นั้น. ตำนาน​ที่​หลาย​คน​เชื่อถือ​กัน​กล่าว​ว่า ต้น​โบอับ​สอง​ต้น​ที่​มี​โพรง​ขนาด​ยักษ์​อยู่​นั้น ซึ่ง​แต่​ละ​โพรง​มี​ขนาด​ใหญ่​พอ​ที่​คน​จะ​เข้า​ไป​อยู่​ได้​หลาย​คน ได้​ถูก​ใช้​เป็น​คุก​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19. อย่าง​ไร​ก็​ตาม นัก​ประวัติศาสตร์​สมัย​ใหม่​บาง​คน​ยัง​ไม่​เชื่อ​คำ​กล่าว​อ้าง​นั้น. ทว่า ต้น​ไม้​เหล่า​นี้​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​น่า​ประทับใจ​และ​เป็น​ที่​ดึงดูด​ใจ​นัก​ท่อง​เที่ยว.

ศิลปะ​จาก​โบอับ

ครั้ง​หนึ่ง​ผู้​คน​เคย​แกะ​สลัก​ภาพ​หรือ​ข้อ​ความ​บน​ลำ​ต้น​ของ​โบอับ. แต่​ใน​ทุก​วัน​นี้ ศิลปิน​ที่​อยู่​ใน​แถบ​ชนบท​ไม่​ได้​แกะ​สลัก​บน​ลำ​ต้น​ของ​มัน แต่​ได้​ฝาก​ฝีมือ​ของ​พวก​เขา​ไว้​บน​ผล​ของ​มัน​ที่​มี​รูป​ร่าง​คล้าย​ไข่ ซึ่ง​ผล​หนึ่ง​อาจ​ยาว​ถึง 25 เซนติเมตร และ​วัด​รอบ​ผล​ได้ 15 เซนติเมตร.

หลัง​จาก​เก็บ​ผล​ที่​มี​ขนาด​พอ​เหมาะ​มา​จาก​ต้น​แล้ว ศิลปิน​ใน​ท้องถิ่น​ใช้​มีด​พับ​แกะ​ภาพ​ที่​ละเอียด​ประณีต​ลง​บน​เปลือก​สี​น้ำตาล. ภาพ​ยอด​นิยม​มี​ทั้ง​ภาพ​สัตว์​ใน​ท้องถิ่น​นั้น, ภาพ​การ​ล่า​สัตว์​ของ​ชาว​อะบอริจินี, และ​ภาพ​ใบ​หน้า​มนุษย์​และ​รูป​ตุ๊กตา​ตัว​เล็ก ๆ. ผลิตภัณฑ์​ที่​แกะ​สลัก​แล้ว​เหล่า​นี้​มัก​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​พวก​นัก​สะสม​ชอบ​ซื้อ​หา​มา​เก็บ​ไว้. ส่วน​ผู้​ซื้อ​คน​อื่น ๆ ก็​มี​ทั้ง​นัก​ท่อง​เที่ยว​และ​ร้าน​ค้า​ปลีก​ใน​ท้องถิ่น.

จริง​อยู่ โบอับ​อาจ​ไม่​ยิ่ง​ใหญ่​เท่า​ต้น​ซีควอยา, น่า​ประทับใจ​เท่า​ต้น​พอปลาร์, หรือ​มี​สี​สัน​สด​สวย​เท่า​ต้น​เมเปิล​ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง. แต่​มัน​ก็​มี​ความ​โดด​เด่น​ใน​แบบ​ฉบับ​ของ​ตัว​เอง ต้น​ไม้​ที่​ทรหด​อด​ทน​และ​ฟื้น​ตัว​ได้​เร็ว​ชนิด​นี้​เป็น​สมบัติ​อัน​ล้ำ​ค่า​ของ​ชาว​ชนบท, ทำ​ให้​พระ​ผู้​สร้าง​ได้​รับ​เกียรติ, และ​บาง​ที​อาจ​บ่ง​ชี้​ว่า​พระองค์​ทรง​เป็น​ผู้​ที่​เปี่ยม​ด้วย​อารมณ์​ขัน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 10 ต้น​ไม้​ถูก​ควั่น​ลอก​เปลือก เมื่อ​เปลือก​รอบ​ลำ​ต้น​ถูก​ควั่น​ออก​ไป. การ​ลอก​เปลือก​แบบ​นี้​จะ​ทำ​ให้​มัน​ไม่​ได้​รับ​น้ำ​หล่อ​เลี้ยง​และ​ทำ​ให้​ต้น​ไม้​ส่วน​ใหญ่​ตาย.

[ภาพ​หน้า 17]

ดอก​บาน​ใน​ตอน​กลางคืน​และ​เหี่ยว​เฉา​ไป​ภาย​ใน​ไม่​กี่​ชั่วโมง

[ภาพ​หน้า 18]

ผล​โบอับ​ที่​แกะ​สลัก​เป็น​ภาพ​กิ้งก่า​ที่​มี​แผง​คอ