ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จะรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ไหม?

จะรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ไหม?

จะ​รอด​พ้น​จาก​การ​สูญ​พันธุ์​ไหม?

ใน​ปี 2002 สหประชาชาติ​ได้​ประกาศ​เป้าหมาย​ที่​จะ​ลด​อัตรา​การ​สูญ​พันธุ์​ของ​สิ่ง​มี​ชีวิต​และ​อัตรา​ความ​เสียหาย​ของ​ระบบ​นิเวศ​เมื่อ​ถึง​สิ้น​ทศวรรษ. สอดคล้อง​กับ​เป้าหมาย​นั้น มี​การ​กำหนด​ให้​ปี 2010 เป็น​ปี​สากล​แห่ง​ความ​หลาก​หลาย​ทาง​ชีวภาพ.

น่า​เศร้า​ใจ พอ​ถึง​ปี​นั้น เป้าหมาย​ดู​เหมือน​ยัง​ห่าง​ไกล. สำนัก​ข่าว​บี​บี​ซี​รายงาน​ว่า “สืบ​เนื่อง​จาก​การ​กระทำ​ของ​มนุษย์​โดย​ตรง สิ่ง​มี​ชีวิต​กำลัง​สูญ​พันธุ์​ใน​อัตรา​สูง​กว่า​เฉลี่ย​ตาม​ธรรมชาติ​ถึง 1,000 เท่า.” หนังสือ​พิมพ์​เดอะ นิวซีแลนด์ เฮรัลด์ ระบุ​เจาะจง​มาก​กว่า​นั้น​อีก​โดย​บอก​ว่า “ทุก​วัน​นี้ หนึ่ง​ใน​ห้า​ของ​พืช หนึ่ง​ใน​ห้า​ของ​สัตว์​เลี้ยง​ลูก​ด้วย​นม หนึ่ง​ใน​เจ็ด​ของ​นก และ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​สัตว์​สะเทิน​น้ำ​สะเทิน​บก​ทั่ว​โลก​อยู่​ใน​ภาวะ​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​พันธุ์.” เรา​เห็น​แง่​มุม​หนึ่ง​ของ​ปัญหา​อย่าง​ชัดเจน​เมื่อ​พิจารณา​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ที่​นิวซีแลนด์​ใน​หลาย​ร้อย​ปี​ที่​ผ่าน​มา.

ความ​หลาก​หลาย​ทาง​ชีวภาพ​ใน​นิวซีแลนด์

ก่อน​มนุษย์​จะ​มา​อาศัย​ที่​นิวซีแลนด์ ระบบ​นิเวศ​ที่​นี่​มี​สภาพ​ดี​มาก. แต่​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ยุค​แรก ๆ ได้​นำ​สิ่ง​มี​ชีวิต​บาง​ชนิด​เข้า​มา ซึ่ง​สร้าง​ความ​หายนะ​ต่อ​ชีวิต​สัตว์​และ​พืช​ใน​ท้องถิ่น. ตัว​อย่าง​เช่น ชาว​เมารี​นำ​สุนัข​ข้าม​มา​จาก​อีก​ฝั่ง​หนึ่ง​ของ​มหาสมุทร​แปซิฟิก และ​พวก​เขา​อาจ​นำ​หนู​จี๊ด​มา​ด้วย​เพื่อ​ใช้​เป็น​อาหาร.

จาก​นั้น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 17 และ 18 ชาว​ยุโรป​ก็​มา​ถึง และ​ได้​นำ​หนู​และ​แมว​มา​ด้วย. ไม่​นาน แมว​บาง​ตัว​ไป​อาศัย​อยู่​ใน​ป่า​กลาย​เป็น​แมว​ป่า. นอก​จาก​นั้น ชาว​ยุโรป​ได้​ปล่อย​แพะ หมู และ​กวาง​เข้า​ป่า​เพื่อ​ใช้​เป็น​อาหาร. ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 พวก​เขา​นำ​พอสซัม​หาง​พู่​และ​กระต่าย​เข้า​มา​เพื่อ​เอา​เนื้อ​และ​ขน โดย​ไม่​คิด​เลย​ว่า​สัตว์​เหล่า​นี้​จะ​ก่อ​ความ​เสียหาย​แก่​ต้น​ไม้ นก และ​พืช​พรรณ​อย่าง​ไร​บ้าง.

พอ​ถึง​ทศวรรษ 1860 มี​กระต่าย​มาก​จน​ควบคุม​ไม่​ได้ จึง​มี​การ​นำ​ตัว​สโตท (สัตว์​เลี้ยง​ลูก​ด้วย​นม​ชนิด​หนึ่ง) เข้า​มา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม สโตท​ชอบ​กิน​นก​ท้องถิ่น​ที่​เชื่อง​ช้า​และ​อ่อนแอ​กว่า. ผล​ก็​คือ กระต่าย​ยัง​คง​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

กระทรวง​อนุรักษ์​แห่ง​นิวซีแลนด์​รายงาน​ว่า ใน​ทุก​วัน​นี้ 9 ใน 10 ของ​ลูก​นก​กีวี​สี​น้ำตาล​ที่​เกิด​ใน​ป่า​จะ​ตาย​ก่อน​อายุ​ครบ​หนึ่ง​ปี เนื่อง​จาก​สัตว์​ต่าง​ถิ่น​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย. สัตว์​หลาย​ชนิด​สูญ​พันธุ์​ไป​แล้ว เช่น นก​มาก​กว่า 40 ชนิด; กบ 3 ชนิด; ค้างคาว 1 ชนิด; สัตว์​จำพวก​กิ้งก่า​อย่าง​น้อย 3 ชนิด; และ​แมลง​อีก​หลาย​ชนิด. กว่า​ครึ่ง​ของ​พืช​และ​สัตว์​ท้องถิ่น​จำนวน 5,819 ชนิด​ใน​นิวซีแลนด์​ถูก​จัด​ว่า​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​พันธุ์ ทำ​ให้​ประเทศ​นี้​มี​สิ่ง​มี​ชีวิต​ใกล้​สูญ​พันธุ์​มาก​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​โลก.

พยายาม​อย่าง​แข็งขัน

ปัจจุบัน หน่วย​งาน​ต่าง ๆ ของ​รัฐ​ตื่น​ตัว​ต่อ​การ​ป้องกัน​ไม่​ให้​พืช​และ​สัตว์​ที่​เป็น​อันตราย​เข้า​มา​ใน​นิวซีแลนด์. นอก​จาก​นี้ กระทรวง​อนุรักษ์​ได้​ดำเนิน​โครงการ​กำจัด​สัตว์​ซึ่ง​ไม่​เป็น​ที่​ต้องการ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ตาม​เกาะ และ​ยัง​ได้​กำหนด​เขต​สงวน​พันธุ์​พืช​และ​สัตว์​ขึ้น​ด้วย.

เกาะ​หนึ่ง​ที่​ได้​รับ​การ​ฟื้นฟู​คือ​ตีรีตีรีมาตังงี ซึ่ง​อยู่​นอก​ชายฝั่ง​คาบสมุทร​วังกาปาราโออา​ของ​โอ๊ก​แลนด์. มี​การ​กำจัด​หนู​หมด​ไป​จาก​เกาะ​นี้​ตั้ง​แต่​ปี 1993 และ​มี​การ​ปลูก​ต้น​ไม้​ท้องถิ่น​ราว ๆ 280,000 ต้น. ปัจจุบัน​เกาะ​นี้​เป็น​เขต​สงวน​ที่​มี​การ​ควบคุม​แต่​เปิด​ให้​เยี่ยม​ชม​ได้. ผู้​มา​เยี่ยม​ชม​สามารถ​ฟัง​เสียง​และ​ชม​นก​ท้องถิ่น​ที่​ถูก​นำ​เข้า​มา​ใหม่ เช่น นก​แซดเดิลแบ๊ก นก​ตากาเฮ นก​โกกาโก นก​ไรเฟิลแมน และ​นก​สติช. นก​ที่​สวย​งาม​เหล่า​นี้​แพร่​พันธุ์​ได้​ดี​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ไม่​มี​สัตว์​นัก​ล่า และ​บ่อย​ครั้ง​ยอม​ให้​นัก​ท่อง​เที่ยว​ได้​ชม​ใน​ระยะ​ใกล้.

ใน​ปี 2003 มี​การ​ประกาศ​ว่า​เกาะ​แคมป์เบลล์​ที่​อยู่​ใกล้​เขต​ขั้ว​โลก​ใต้​ไม่​มี​หนู​อีก​ต่อ​ไป​แล้ว​หลัง​จาก​ดำเนิน​โครงการ​กำจัด​อยู่​สอง​ปี. ตั้ง​แต่​นั้น​มา​พรรณ​ไม้​ประจำ​ถิ่น​เริ่ม​ฟื้น​ตัว​และ​นก​ทะเล​ก็​กลับ​มา. แม้​แต่​เป็ด​ทีล​เกาะ​แคมป์เบลล์​ซึ่ง​เป็น​สัตว์​หา​ยาก ก็​ถูก​นำ​เข้า​มา​อีก​ครั้ง​หนึ่ง.

หลัง​จาก​นั้น มี​การ​เริ่ม​โครงการ​ฟื้นฟู​ใน​เกาะ​รังงีโตโต​และ​เกาะ​โมตูลาปู รวม​ทั้ง​เกาะ​ใน​อ่าว​ฮาอูรากี​ของ​โอ๊ก​แลนด์. โครงการ​นี้​มี​เป้าหมาย​จะ​ปก​ป้อง​ป่า​โปฮูตูกาวา​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก และ​ส่ง​เสริม​การ​นำ​สัตว์​และ​พืช​ท้องถิ่น​กลับ​เข้า​สู่​เกาะ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. มี​การ​กำจัด​สัตว์​ต่าง​ถิ่น​หลาย​ชนิด รวม​ทั้ง​กระต่าย สโตท เม่น แมว​ป่า และ​หนู. เมื่อ​ทำ​เช่น​นั้น​แล้ว ก็​มี​การ​ค้น​พบ​นก​แก้ว​หัว​แดง​และ​นก​เบลล์​เบิร์ด​บน​เกาะ​นี้​อีก​ครั้ง​หลัง​จาก​หาย​ไป​นาน​ร่วม​ร้อย​ปี!

ตัว​อย่าง​เหล่า​นี้​แสดง​ว่า​มี​อะไร​ที่​จะ​ทำ​ได้​บ้าง​เพื่อ​ช่วย​ให้​พืช​และ​สัตว์​ที่​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​พันธุ์​กลับ​คืน​มา และ​เพื่อ​แก้ไข​ความ​ผิด​พลาด​ทาง​สิ่ง​แวด​ล้อม​ที่​เกิด​จาก​ความ​ไม่​สุขุม​ใน​อดีต. ผู้​รัก​ธรรมชาติ​ทุก​แห่ง​หน​สามารถ​คาด​หวัง​ตาม​คำ​สัญญา​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ผู้ “ทรง​สร้าง​ฟ้า​และ​แผ่นดิน​โลก” จะ​หยุด​ยั้ง​การ​กระทำ​ที่​เป็น​ภัย​ต่อ​ธรรมชาติ รวม​ทั้ง​ชีวิต​สัตว์​และ​พืช​ด้วย.—บทเพลง​สรรเสริญ 115:15; วิวรณ์ 21:5

[คำ​โปรย​หน้า 25]

ปัจจุบัน 9 ใน 10 ของ​ลูก​นก​กีวี​จะ​ตาย​ก่อน​อายุ​ครบ​หนึ่ง​ปี

[กรอบ​หน้า 26]

ใช้​ทรัพยากร​อย่าง​สุขุม

ข้อ​ท้าทาย​อย่าง​หนึ่ง​ที่​นัก​อนุรักษ์​ทั่ว​โลก​กำลัง​เผชิญ​อยู่​คือ​มี​สัตว์​และ​พืช​ใกล้​สูญ​พันธุ์​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ แต่​มี​ทรัพยากร​ที่​จะ​แก้ไข​ปัญหา​นี้​จำกัด. วิธี​การ​หนึ่ง​ถูก​เรียก​ว่า​การ​อนุรักษ์​ด้วย​วิธี​คัด​แยก ซึ่ง​ใช้​หลัก​ของ​การ​คัด​แยก​ผู้​ป่วย​ใน​ห้อง​ฉุกเฉิน​ของ​โรง​พยาบาล​ทั่ว​โลก. วิธี​การ​นี้​หมาย​ถึง​การ​ทุ่มเท​ทรัพยากร​ให้​กับ​การ​ดำเนิน​งาน​ที่​จะ​เกิด​ผล​มาก​ที่​สุด โดย​พิจารณา​ปัจจัย​ต่าง ๆ เช่น (1) คุณค่า​ของ​สิ่ง​มี​ชีวิต​หรือ​ถิ่น​อาศัย​ตาม​ที่​คิด​กัน (2) โอกาส​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ของ​การ​ดำเนิน​งาน​ที่​เสนอ​มา​นั้น และ (3) ค่า​ใช้​จ่าย​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น. ขณะ​ที่​บาง​คน​ไม่​เห็น​ด้วย แต่​ผู้​สนับสนุน​บอก​ว่า​วิธี​การ​นี้​เป็น​การ​ใช้​ทรัพยากร​ที่​มี​อยู่​จำกัด​อย่าง​คุ้มค่า​ที่​สุด โดย​มุ่ง​เน้น​สิ่ง​ที่​จะ​เกิด​ผล​มาก​ที่​สุด.

[แผนที่​หน้า 26]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

นิวซีแลนด์

อ่าว​ฮาอูรากี

เกาะ​ตีรีตีรีมาตังงี

รังงีโตโต และ​โมตูลาปู

เกาะ​แคมป์เบลล์

[ภาพ​หน้า 25]

นก​กีวี​สี​น้ำตาล

[ภาพ​หน้า 27]

นก​ตากาเฮ​ที่​โต​เต็ม​วัย​บน​เกาะ​ตีรีตีรีมาตังงี

[ภาพ​หน้า 27]

เกาะ​แคมป์เบลล์

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 25]

© S Sailer/A Sailer/age fotostock

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 27]

Takahe: © FLPA/Terry Whittaker/age fotostock; Campbell Island: © Frans Lanting/CORBIS