ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สัมภาษณ์ | เฟรเดอริก ดูมูลิน

“ผมเชื่อว่าต้องมีผู้สร้างชีวิต”

“ผมเชื่อว่าต้องมีผู้สร้างชีวิต”

เฟรเดอริก ดูมูลิน ทำงานวิจัยด้านเภสัชศาสตร์มานานกว่า 10 ปีที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองเกงค์ ประเทศเบลเยียม เมื่อก่อนเขาเชื่อว่าพระเจ้าไม่มีจริง แต่ในภายหลังเขากลับเชื่อมั่นว่าต้องมีพระเจ้าผู้สร้างชีวิต ตื่นเถิด! สัมภาษณ์เฟรเดอริก ที่ปัจจุบันเป็นพยานพระยะโฮวาและได้ถามเขาเรื่องงานและความเชื่อทางศาสนาของเขา

ศาสนาสำคัญต่อชีวิตในวัยเด็กของคุณบ้างไหม?

แม่ผมเป็นคาทอลิก แต่เมื่อผมอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามครูเสดและศาลศาสนา ผมก็รู้สึกว่าศาสนาน่ารังเกียจมาก และผมไม่อยากจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ผมยังอ่านหนังสือของศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ของคริสเตียน และรู้สึกว่าศาสนาเหล่านั้นก็แย่พอกัน ตอนอายุ 14 ผมคิดเอาเองว่าการทุจริตคดโกงที่มีอยู่เต็มไปหมดในวงการศาสนาเป็นข้อพิสูจน์ว่าไม่มีพระเจ้า พอผมได้เรียนเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการที่โรงเรียน ผมเลยสรุปว่าชีวิตเกิดขึ้นมาเองโดยกระบวนการทางธรรมชาติ

อะไรทำให้คุณสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์?

ตอนอายุ 7 ขวบ ผมได้รับกล้องจุลทรรศน์เป็นของขวัญ แล้วมันก็กลายเป็นของเล่นที่ผมชอบเอาไปส่องดูนั่นดูนี่ และผมยังชอบเอาแมลงสวย ๆ เช่น พวกผีเสื้อมาส่องดูด้วย

ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องต้นกำเนิดของชีวิต?

ตอนอายุ 22 ผมได้เจอนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่เป็นพยานพระยะโฮวา เธอเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างชีวิตขึ้นมา มันฟังแปลกมากสำหรับผม ผมกะว่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อของเธอเป็นเรื่องตลกสิ้นดี แต่ผมต้องอึ้งไปเลย เมื่อเธอตอบคำถามต่าง ๆ ของผมอย่างมีเหตุมีผล ผมชักเริ่มอยากรู้เกี่ยวกับคนที่เชื่อเรื่องพระเจ้าขึ้นมาทันที

ไม่กี่เดือนต่อมา ผมได้เจอกับพยานอีกคนหนึ่งที่มีความรู้ด้านการแพทย์เป็นอย่างดี เมื่อเขาบอกว่าจะขออธิบายเรื่องความเชื่อของเขาให้ผมฟังสักหน่อย ผมตอบตกลงเพราะผมอยากช่วยให้เขาตาสว่างซะที

แล้วคุณพิสูจน์ได้ไหมว่าสิ่งที่เขาเชื่อมันเป็นเรื่องงมงาย?

ไม่เลยครับ ผมเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีต่าง ๆ เรื่องต้นกำเนิดของชีวิต แต่ผมต้องแปลกใจมากเมื่อรู้ว่านักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงบางคนบอกว่า แม้แต่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่ดูธรรมดาที่สุดก็ยังมีโครงสร้างสลับซับซ้อนมากจนเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นเอง นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าเซลล์เหล่านี้ต้องมาจากอวกาศนอกโลก ซึ่งทำให้มีข้อโต้แย้งต่าง ๆ นานาเรื่องต้นกำเนิดของชีวิต

แล้วมีจุดที่พวกเขาคิดเห็นตรงกันบ้างไหม?

มีครับ นักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความคิดตรงกันว่า จู่ ๆ กระบวนการทางธรรมชาติก็ทำให้ชีวิตเกิดขึ้นมาจากสิ่งไม่มีชีวิตโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ผมเริ่มสงสัยว่า ‘ในเมื่อพวกเขาไม่รู้ว่าชีวิตเกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีผู้สร้างได้อย่างไร แล้วทำไมถึงมั่นใจนักหนาว่ามันเป็นอย่างที่เขาพูด?’ ผมจึงเริ่มศึกษาว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องต้นกำเนิดของชีวิต

คุณได้ข้อสรุปอะไรจากการค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิล?

ยิ่งผมศึกษามากเท่าไร ผมก็ยิ่งเชื่อว่าสิ่งที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นความจริง ตัวอย่างเช่น ไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบหลักฐานที่ว่าเอกภพมีจุดเริ่มต้น แต่พอเปิดดูข้อคัมภีร์ที่เขียนไว้เมื่อ 3,500 ปีก่อนที่ว่า “ในเริ่มแรกนั้นพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดินโลก” * ผมสังเกตว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องเสมอ

ผมสังเกตว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องเสมอ

คุณคิดว่าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นอุปสรรคที่ทำให้ยอมรับเรื่องพระเจ้าได้ยากขึ้นไหม?

ไม่ครับ ตอนที่ผมเริ่มเชื่อว่ามีพระเจ้า ผมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์มาสามปีแล้ว จนถึงทุกวันนี้ ยิ่งผมศึกษามากเท่าไร ผมก็ยิ่งเชื่อมั่นว่ามีพระเจ้าผู้ออกแบบและสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมา

คุณลองยกตัวอย่างได้ไหม?

ได้เลยครับ ผมได้ศึกษาเรื่องผลกระทบที่ยาและสารพิษมีต่อสิ่งมีชีวิต ผมประทับใจมากเมื่อรู้ว่าสมองของเราถูกออกแบบไว้อย่างดีเยี่ยม โดยมีระบบที่ช่วยป้องกันอันตรายจากสารพิษและแบคทีเรีย ซึ่งก็คือแนวกั้นระหว่างเลือดกับเซลล์สมองนั่นเอง

คุณพบอะไรที่น่าทึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้?

ร้อยกว่าปีมาแล้วที่นักวิจัยสังเกตว่าสารหลายชนิดเข้าไปถึงทุกส่วนของร่างกายได้โดยทางกระแสเลือด ยกเว้นสมองและไขสันหลัง เรื่องนี้ทำให้ผมทึ่งจริง ๆ ทำไมล่ะ? เพราะระบบที่มีเครือข่ายขนาดยักษ์ของหลอดเลือดฝอยจะนำเลือดไปยังทุกเซลล์ในสมอง และทำให้ทุกเซลล์ในสมองสะอาด ได้รับออกซิเจน และสารอาหารที่จำเป็นอยู่เสมอ แล้วเลือดของเราถูกแยกจากเซลล์สมองได้อย่างไร? เป็นเวลาหลายปีที่ไม่มีใครอธิบายเรื่องนี้ได้

แนวกั้นนี้ทำงานอย่างไร?

หลอดเลือดฝอยไม่เหมือนกับหลอดพลาสติกที่กั้นสิ่งที่อยู่ข้างในกับข้างนอกไม่ให้ปนกัน ผนังของหลอดเลือดทั่ว ๆ ไปประกอบด้วยเซลล์มากมาย เซลล์เหล่านี้ยอมให้สารต่าง ๆ และจุลินทรีย์ผ่านเข้าไปในเซลล์หรือระหว่างเซลล์ได้ แต่เซลล์ที่ประกอบกันเป็นหลอดเลือดในสมองนั้นแตกต่างออกไป เพราะทุกเซลล์จะเรียงชิดกันจนแน่น เซลล์เหล่านี้และวิธีที่มันยึดเกาะกันอย่างเหนียวแน่นนี่แหละที่น่าทึ่งมาก การเรียงตัวของเซลล์ที่ซับซ้อนซึ่งประกอบกันเป็นแนวกั้นก็เหมือนด่านตรวจที่เข้มงวด มันมีหน้าที่ตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ก่อนที่จะยอมให้ผ่านเข้าไปในสมองได้ เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และกลูโคส แต่โปรตีน สารประกอบอื่น ๆ และเซลล์ต่าง ๆ จะถูกกั้นไม่ให้ผ่านเข้าไปเลย ดังนั้น แนวกั้นระหว่างเลือดกับสมองนี้จะควบคุมการทำงานในระดับโมเลกุลเพื่อผลิตแนวกั้นทางกายภาพ ทางเคมี และทางไฟฟ้า สำหรับผมแล้ว การออกแบบที่น่าทึ่งนี้ไม่มีทางจะวิวัฒนาการขึ้นเองได้

^ วรรค 16 เยเนซิศ 1:1, ฉบับคิงเจมส์