ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กุญแจ​สู่​ความ​สุข​ใน​ครอบครัว

วิธีจัดการเรื่องเงิน

วิธีจัดการเรื่องเงิน

สามี​พูด​ว่า “ผม​คิด​ว่า​ลอรา * ภรรยา​ของ​ผม ใช้​จ่าย​เงิน​ไป​กับ​หลาย​อย่าง ที่​ไม่​จำเป็น อย่าง​น้อย​ก็​ไม่​จำเป็น​ใน​ความ​คิด​ของ​ผม. และ​ดู​เหมือน​ว่า​เธอ​จะ​เก็บ​เงิน​ไม่​อยู่​เอา​เสีย​เลย! เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​เรา​มี​ปัญหา​ใหญ่​เมื่อ​มี​ค่า​ใช้​จ่าย​ที่​ไม่​คาด​คิด​เกิด​ขึ้น. ผม​พูด​บ่อย ๆ ว่า ภรรยา​ของ​ผม​มี​เงิน​ใน​กระเป๋า​เมื่อ​ไร​เป็น​ต้อง​จ่าย​เกลี้ยง​ทุก​ที.”

ภรรยา​พูด​ว่า “ฉัน​อาจ​จะ​ไม่​ใช่​คน​เก็บ​เงิน​เก่ง แต่​สามี​ฉัน​ไม่​รู้​หรอก​ว่า ข้าวของ​ต่าง ๆ แพง​แค่​ไหน ทั้ง​อาหาร, ของ​แต่ง​บ้าน, ค่า​ใช้​จ่าย​ต่าง ๆ ภาย​ใน​บ้าน และ​ฉัน​ก็​เป็น​คน​ที่​อยู่​บ้าน​มาก​ที่​สุด. ฉัน​รู้​ว่า​อะไร​ที่​เรา​จำเป็น​ต้อง​ซื้อ และ​ฉัน​ก็​ซื้อ​แม้​ว่า​จะ​ทำ​ให้​เรา​เถียง​กัน​เรื่อง​เงิน​อีก​ก็​ตาม.”

เรื่อง​เงิน​อาจ​เป็น​เรื่อง​หนึ่ง​ที่​ยาก​ที่​สุด​สำหรับ​คู่​สมรส​ที่​จะ​พูด​คุย​กัน​ด้วย​ใจ​เย็น ๆ. ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​เรื่อง​นี้​มัก​เป็น​สาเหตุ​ทำ​ให้​คู่​สมรส​ทะเลาะ​กัน​มาก​ที่​สุด.

สามี​ภรรยา​ที่​มี​ทัศนะ​ไม่​สมดุล​ใน​เรื่อง​เงิน​อาจ​มี​ความ​เครียด ความ​ขัด​แย้ง และ​ได้​รับ​ผล​เสีย​ด้าน​อารมณ์ กระทั่ง​สัมพันธภาพ​ที่​เขา​มี​กับ​พระเจ้า. (1 ติโมเธียว 6:9, 10) บิดา​มารดา​ที่​ไม่​สามารถ​จัด​การ​เรื่อง​เงิน​ได้​อย่าง​สุขุม​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ทำ​งาน​มาก​ขึ้น ทำ​ให้​ไม่​มี​เวลา​เอา​ใจ​ใส่​คู่​สมรส​และ​ลูก ๆ ด้าน​อารมณ์​และ​ช่วย​ครอบครัว​ให้​มี​สัมพันธภาพ​ที่​ดี​กับ​พระเจ้า. นั่น​ยัง​เป็น​การ​สอน​ลูก​ให้​มี​ทัศนะ​ที่​ไม่​เหมาะ​สม​ใน​เรื่อง​เงิน​อีก​ด้วย.

คัมภีร์​ไบเบิล​ยอม​รับ​ว่า “เงิน​เป็น​เครื่อง​ป้องกัน.” (ท่าน​ผู้ประกาศ 7:12, ฉบับ R​73) แต่​เงิน​จะ​ป้องกัน​ชีวิต​สมรส​และ​ครอบครัว​ก็​ต่อ​เมื่อ​คุณ​รู้​วิธี​ใช้​เงิน​และ​รู้​วิธี​พูด​คุย​เรื่อง​เงิน​กับ​คู่​สมรส. * ที่​จริง แทน​ที่​จะ​ทำ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง การ​พูด​คุย​เรื่อง​เงิน​อาจ​ช่วย​ให้​สาย​สัมพันธ์​ระหว่าง​คู่​สมรส​แน่นแฟ้น​ขึ้น​ได้.

แต่​เพราะ​เหตุ​ใด​เงิน​จึง​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​มาก​มาย​ใน​ชีวิต​สมรส? และ​มี​วิธี​ใด​บ้าง​ที่​คุณ​สามารถ​ทำ​ได้​เพื่อ​ให้​การ​พูด​คุย​เรื่อง​เงิน​เป็น​เรื่อง​ที่​เสริม​สร้าง แทน​ที่​จะ​กลาย​เป็น​การ​โต้​เถียง​กัน?

มี​ข้อ​ท้าทาย​อะไร​บ้าง?

บ่อย​ครั้ง การ​โต้​เถียง​กัน​เรื่อง​เงิน แท้​จริง​แล้ว​ไม่​ได้​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ที่​ว่า​จะ​ใช้​เงิน​อย่าง​ไร แต่​เป็น​เรื่อง​ของ​ความ​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ​กัน​หรือ​ความ​กลัว. ตัว​อย่าง​เช่น สามี​ที่​เรียก​ร้อง​ให้​ภรรยา​ชี้​แจง​เกี่ยว​กับ​เงิน​ทุก​บาท​ทุก​สตางค์​ที่​เธอ​ใช้​ไป ที่​แท้​แล้ว​อาจ​เป็น​การ​บอก​ว่า​เขา​ไม่​เชื่อ​ว่า​ภรรยา​จะ​สามารถ​จัด​การ​เรื่อง​เงิน​ของ​ครอบครัว​ได้​ดี​พอ. ส่วน​ภรรยา​ที่​บ่น​ว่า สามี​เก็บ​ออม​เงิน​น้อย​เกิน​ไป ที่​แท้​แล้ว​อาจ​กำลัง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เธอ​กลัว​ว่า​เหตุ​การณ์​บาง​อย่าง​ใน​อนาคต​จะ​ทำ​ให้​ครอบครัว​ลำบาก.

นอก​จาก​นี้ คู่​สมรส​ยัง​มี​ข้อ​ท้าทาย​อีก​อย่าง​หนึ่ง คือ​ภูมิหลัง​ที่​ต่าง​กัน. แมททิว ซึ่ง​แต่งงาน​มา​แปด​ปี กล่าว​ว่า “ภรรยา​ของ​ผม​มา​จาก​ครอบครัว​ที่​จัด​การ​เรื่อง​เงิน​ได้​ดี. เธอ​ไม่​รู้สึก​กลัว​เหมือน​ผม. พ่อ​ของ​ผม​เป็น​คน​ติด​เหล้า สูบ​บุหรี่​จัด และ​ตก​งาน​เป็น​เวลา​นาน. บ่อย​ครั้ง เรา​ต้อง​อยู่​อย่าง​อัตคัด​ขัดสน และ​เมื่อ​โต​ขึ้น ผม​จึง​กลาย​เป็น​คน​ที่​กลัว​การ​เป็น​หนี้​เหลือ​เกิน. บาง​ครั้ง ความ​กลัว​นี้​ทำ​ให้​ผม​เข้มงวด​กับ​ภรรยา​มาก​เกิน​ไป​ใน​เรื่อง​เงิน.” ไม่​ว่า​อะไร​จะ​เป็น​สาเหตุ​ที่​ก่อ​ความ​ตึงเครียด คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ที่​เงิน​จะ​เป็น​ประโยชน์​แก่​ครอบครัว แทน​ที่​จะ​เป็น​ต้น​เหตุ​ของ​ความ​ขัด​แย้ง?

คุณ​ถือ​ว่า​อะไร​สำคัญ​กว่า​เงิน​หรือ​ชีวิต​สมรส?

เคล็ดลับ​สี่​ประการ​สู่​ความ​สำเร็จ

คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ใช่​คู่มือ​ด้าน​การ​เงิน. แต่​พระ​คัมภีร์​ก็​มี​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​ซึ่ง​สามารถ​ช่วย​คู่​สมรส​ให้​หลีก​เลี่ยง​ปัญหา​เรื่อง​เงิน​ได้. เชิญ​คุณ​พิจารณา​คำ​แนะ​นำ​เหล่า​นั้น​และ​ลอง​ทำ​ตาม​ข้อ​ชี้​แนะ​ต่าง ๆ ต่อ​ไป​นี้.

1. พูด​เรื่อง​เงิน​ด้วย​ใจ​เย็น ๆ.

“ปัญญา​อยู่​กับ​คน​ที่​ปรึกษา​หารือ​กัน.” (สุภาษิต 13:10, ล.ม.) เนื่อง​จาก​ภูมิหลัง​ของ​คุณ คุณ​อาจ​รู้สึก​กระอักกระอ่วน​ใจ​ที่​จะ​พูด​เรื่อง​เงิน​กับ​คน​อื่น โดย​เฉพาะ​กับ​คู่​สมรส. กระนั้น นับ​ว่า​ฉลาด​สุขุม​ที่​จะ​พูด​คุย​กัน​ใน​เรื่อง​ที่​สำคัญ​นี้. ตัว​อย่าง​เช่น คุณ​อาจ​อธิบาย​ให้​คู่​สมรส​เข้าใจ​ว่า ทัศนะ​ของ​พ่อ​แม่​ใน​เรื่อง​เงิน​มี​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​คุณ. และ​พยายาม​เข้าใจ​ว่า​ภูมิหลัง​ของ​คู่​สมรส​มี​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​ทัศนะ​ของ​เขา​ใน​เรื่อง​เงิน.

ไม่​จำเป็น​ต้อง​รอ​ให้​เกิด​ปัญหา​เสีย​ก่อน​แล้ว​จึง​ค่อย​คุย​กัน. ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​หนึ่ง​ถาม​ว่า “สอง​คน​จะ​เดิน​ไป​ด้วย​กัน​ได้​หรือ​นอก​จาก​ทั้ง​สอง​จะ​ได้​ตก​ลง​กัน​ไว้​ก่อน.” (อาโมศ 3:3, ฉบับ R​73) จะ​นำ​หลักการ​ข้อ​นี้​ไป​ใช้​ได้​อย่าง​ไร? หาก​คุณ​จัด​เวลา​ไว้​เพื่อ​พูด​คุย​กัน​เรื่อง​เงิน​โดย​เฉพาะ โอกาส​ที่​จะ​ขัด​แย้ง​กัน​เนื่อง​จาก​ความ​เข้าใจ​ผิด​ก็​จะ​มี​น้อย​ลง.

ลอง​วิธี​นี้: กำหนด​เวลา​ไว้​เพื่อ​พูด​คุย​เรื่อง​การ​เงิน​ของ​ครอบครัว​เป็น​ประจำ. คุณ​อาจ​คุย​กัน​ใน​วัน​แรก​ของ​เดือน​หรือ​วัน​ใด​วัน​หนึ่ง​ของ​สัปดาห์. ใช้​เวลา​สั้น ๆ อาจ​จะ​ประมาณ 15 นาที​หรือ​น้อย​กว่า​นั้น. เลือก​เวลา​ที่​คุณ​ทั้ง​คู่​รู้สึก​ผ่อน​คลาย. ตก​ลง​กัน​ว่า​จะ​ไม่​พูด​เรื่อง​เงิน​ใน​บาง​เวลา เช่น เมื่อ​รับประทาน​อาหาร​หรือ​ขณะ​ที่​กำลัง​พักผ่อน​อยู่​กับ​ลูก ๆ.

2. ตก​ลง​กัน​ว่า​จะ​มอง​เงิน​ที่​ได้​มา​อย่าง​ไร.

“จง​นำ​หน้า​ใน​การ​ให้​เกียรติ​กัน.” (โรม 12:10) ถ้า​คุณ​เป็น​คน​เดียว​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ราย​ได้ คุณ​อาจ​ให้​เกียรติ​คู่​สมรส​โดย​ถือ​ว่า​เงิน​นั้น​ไม่​ใช่​ของ​คุณ​เพียง​คน​เดียว แต่​เป็น​เงิน​ของ​ครอบครัว.—1 ติโมเธียว 5:8

ถ้า​คุณ​กับ​คู่​สมรส​มี​ราย​ได้​ด้วย​กัน​ทั้ง​คู่ คุณ​อาจ​ให้​เกียรติ​กัน​โดย​บอก​ให้​คู่​สมรส​รู้​ว่า​คุณ​มี​ราย​ได้​เท่า​ไร​และ​มี​ราย​จ่าย​ที่​สำคัญ​อะไร​บ้าง. ถ้า​คุณ​ปิด​บัง​เรื่อง​นี้​ไม่​ให้​คู่​ของ​คุณ​รู้ อาจ​เป็น​การ​บั่น​ทอน​ความ​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ​และ​ทำลาย​สาย​สัมพันธ์​ที่​มี​ต่อ​กัน​ได้. ไม่​จำเป็น​ต้อง​ปรึกษา​กัน​ก่อน​จ่าย​เงิน​ทุก​บาท​ทุก​สตางค์. แต่​ถ้า​คุณ​ปรึกษา​กัน​ก่อน​จะ​ซื้อ​ของ​ที่​ราคา​ค่อนข้าง​แพง ก็​แสดง​ว่า​คุณ​ถือ​ว่า​ความ​เห็น​ของ​คู่​สมรส​นั้น​สำคัญ.

ลอง​วิธี​นี้: ตก​ลง​กัน​เรื่อง​จำนวน​เงิน​ที่​แต่​ละ​ฝ่าย​จะ​จ่าย​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​ปรึกษา​กัน​ก่อน อาจ​จะ​เป็น 500 บาท​หรือ 1,000 บาท​หรือ​เป็น​จำนวน​อื่น​ก็​ได้. ปรึกษา​คู่​สมรส​ก่อน​เสมอ​ถ้า​คุณ​ต้องการ​จะ​ใช้​จ่าย​เกิน​จำนวน​ที่​ตก​ลง​กัน​ไว้.

3. เขียน​แผนการ​ใน​กระดาษ.

“แผนการ​ของ​คน​ขยัน​ก่อ​ผล​ประโยชน์​แน่นอน.” (สุภาษิต 21:5, ล.ม.) วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​วาง​แผน​สำหรับ​อนาคต​และ​ไม่​ทำ​ให้​เงิน​ที่​หา​มา​ด้วย​ความ​เหนื่อย​ยาก​สูญ​เปล่า​คือ​การ​ทำ​งบประมาณ​ของ​ครอบครัว. นีนา​ซึ่ง​แต่งงาน​มา​ห้า​ปี​กล่าว​ว่า “คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​และ​รู้​อะไร​มาก​ขึ้น​เมื่อ​เห็น​ราย​รับ​และ​ราย​จ่าย​ที่​เขียน​ไว้​บน​กระดาษ. เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​โต้​เถียง​เมื่อ​เห็น​ชัด​ว่า​ข้อ​เท็จ​จริง​เป็น​อย่าง​ไร.”

คุณ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ทำ​งบประมาณ​แบบ​ที่​ซับซ้อน. ดาร์เรน ซึ่ง​แต่งงาน​มา 26 ปี​แล้ว​และ​มี​ลูก​ชาย​สอง​คน บอก​ว่า “ตอน​แรก เรา​ใช้​วิธี​แบ่ง​เงิน​สำหรับ​หนึ่ง​สัปดาห์​ไว้​เป็น​ซอง ๆ. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​มี​ซอง​สำหรับ​ค่า​อาหาร, นันทนาการ, และ​แม้​แต่​ค่า​ตัด​ผม. ถ้า​เงิน​ใน​ซอง​ไหน​หมด เรา​ก็​จะ​ยืม​เงิน​มา​จาก​ซอง​อื่น แต่​เรา​จะ​ใส่​เงิน​คืน​ใน​ซอง​นั้น​ให้​เร็ว​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้.” ถ้า​คุณ​มัก​จะ​ชำระ​เงิน​ด้วย​วิธี​หัก​จาก​บัญชี​ธนาคาร​หรือ​ใช้​บัตร​เครดิต ก็​ยิ่ง​จำเป็น​ต้อง​วาง​แผนการ​ใช้​จ่าย​และ​ทำ​บัญชี​ค่า​ใช้​จ่าย.

ลอง​วิธี​นี้: ทำ​รายการ​ค่า​ใช้​จ่าย​ประจำ​ทั้ง​หมด​ที่​คุณ​รู้​ตัว​เลข​แน่นอน. ตก​ลง​กัน​ว่า​จะ​แบ่ง​ราย​ได้​ไว้​เป็น​เงิน​ออม​มาก​น้อย​เท่า​ไร. จาก​นั้น ทำ​รายการ​ค่า​ใช้​จ่าย​อื่น ๆ ที่​ไม่​ตาย​ตัว เช่น ค่า​อาหาร, ค่า​น้ำ​ค่า​ไฟ​และ​ค่า​โทรศัพท์. เก็บ​บันทึก​ค่า​ใช้​จ่าย​ทั้ง​หมด​ไว้​หลาย ๆ เดือน. หาก​จำเป็น คุณ​อาจ​ต้อง​ปรับ​รูป​แบบ​ชีวิต​เพื่อ​จะ​ไม่​มี​หนี้สิน​ท่วม​ตัว.

4. ตก​ลง​กัน​ว่า​ใคร​จะ​รับผิดชอบ​ค่า​ใช้​จ่าย​ด้าน​ใด.

“สอง​คน​ก็​ดี​กว่า​คน​เดียว, เพราะ​ว่า​เขา​ทั้ง​สอง​ได้​รับ​ผล​ของ​งาน​ดี​กว่า.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 4:9, 10) บาง​ครอบครัว สามี​เป็น​ผู้​ดู​แล​ค่า​ใช้​จ่าย​ทั้ง​หมด. แต่​บาง​ครอบครัว ภรรยา​อาจ​รับ​ผิด​ชอบ​หน้า​ที่​นี้. (สุภาษิต 31:10-28) อย่าง​ไร​ก็​ดี คู่​สมรส​หลาย​คู่​เลือก​ที่​จะ​ช่วย​กัน​แบก​ภาระ​ค่า​ใช้​จ่าย. มาริโอ​ซึ่ง​แต่งงาน​มา 21 ปี​แล้ว​บอก​ว่า “ภรรยา​ของ​ผม​จะ​เป็น​คน​จ่าย​ค่า​น้ำ​ค่า​ไฟ​และ​ค่า​ใช้​จ่าย​เบ็ดเตล็ด. ส่วน​ผม​จะ​ดู​แล​เรื่อง​ภาษี, ค่า​ผ่อน​รถ​และ​ค่า​เช่า​บ้าน. เรา​บอก​ให้​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​รู้​เสมอ​ว่า​ใช้​จ่าย​อะไร​ไป​บ้าง​และ​ช่วย​กัน​รับผิดชอบ.” ไม่​ว่า​คุณ​จะ​ใช้​วิธี​ใด เคล็ดลับ​ก็​คือ​การ​ทำ​งาน​เป็น​ทีม.

ลอง​วิธี​นี้: ตก​ลง​กัน​ว่า​ใคร​จะ​รับผิดชอบ​ค่า​ใช้​จ่าย​ด้าน​ใด โดย​คำนึง​ถึง​จุด​ดี​และ​จุด​อ่อน​ของ​แต่​ละ​คน. ทุก ๆ สอง​สาม​เดือน ให้​ทบทวน​การ​ทำ​หน้า​ที่​ตาม​ที่​ตก​ลง​กัน​ไว้. จง​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ปรับ​เปลี่ยน. เพื่อ​จะ​เห็น​คุณค่า​ของ​งาน​ที่​คู่​สมรส​รับผิดชอบ​อยู่ เช่น การ​จ่าย​ค่า​น้ำ​ค่า​ไฟ หรือ​การ​ไป​ซื้อ​ของ คุณ​อาจ​สลับ​หน้า​ที่​กัน​บ้าง​เป็น​ครั้ง​คราว.

การ​พูด​คุย​เรื่อง​เงิน​ควร​เผย​ให้​เห็น​อะไร?

การ​พูด​คุย​เรื่อง​เงิน​ไม่​ควร​เป็น​สิ่ง​ที่​บั่น​ทอน​ความ​รัก​ของ​คุณ. ลี​อา​ซึ่ง​แต่งงาน​มา​ห้า​ปี​แล้ว​เห็น​ด้วย​กับ​เรื่อง​นี้. เธอ​บอก​ว่า “ดิฉัน​กับ​สามี​เรียน​รู้​ที่​จะ​พูด​คุย​เรื่อง​เงิน​กัน​อย่าง​เปิด​อก​และ​ตรง​ไป​ตรง​มา. ผล​คือ เดี๋ยว​นี้​เรา​ทำ​งาน​เป็น​ทีม​และ​รัก​กัน​มาก​ขึ้น.”

เมื่อ​คู่​สมรส​พูด​คุย​กัน​ว่า​ต้องการ​จะ​ใช้​จ่าย​เงิน​อย่าง​ไร พวก​เขา​ก็​ได้​ตั้ง​ความ​หวัง​และ​วาด​ฝัน​ร่วม​กัน และ​ทำ​ให้​พันธะ​ผูก​พัน​ใน​การ​สมรส​ของ​พวก​เขา​แน่นแฟ้น​ยิ่ง​ขึ้น. เมื่อ​พวก​เขา​ปรึกษา​หารือ​กัน​ก่อน​ที่​จะ​ซื้อ​ของ​ชิ้น​ใหญ่ พวก​เขา​ก็​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​ความ​คิด​เห็น​และ​ความ​รู้สึก​ของ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง. เมื่อ​พวก​เขา​ให้​คู่​ของ​ตน​มี​อิสระ​ที่​จะ​ใช้​เงิน​จำนวน​หนึ่ง​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​ปรึกษา​กัน พวก​เขา​ก็​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​มี​ความ​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ​กัน. ทั้ง​หมด​นี้​คือ​องค์​ประกอบ​ของ​สาย​สัมพันธ์​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​รัก​อย่าง​แท้​จริง. สาย​สัมพันธ์​เช่น​นี้​มี​ค่า​ยิ่ง​กว่า​เงิน​อย่าง​แน่นอน ฉะนั้น จะ​ทะเลาะ​กัน​เรื่อง​เงิน​ไป​ทำไม?

^ วรรค 3 ชื่อ​สมมุติ.

^ วรรค 7 คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “สามี​เป็น​ประมุข​ของ​ภรรยา” เขา​จึง​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​หลัก​ที่​จะ​ตัดสิน​ว่า​ควร​ใช้​เงิน​ของ​ครอบครัว​อย่าง​ไร รวม​ทั้ง​มี​พันธะ​ที่​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​ภรรยา​ด้วย​ความ​รัก​และ​อย่าง​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​ด้วย.—เอเฟโซส์ 5:23, 25

จง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า . . .

  • ฉัน​กับ​คู่​สมรส​คุย​กัน​เรื่อง​เงิน​ด้วย​ใจ​เย็น ๆ ครั้ง​สุด​ท้าย​เมื่อ​ไร?

  • ฉัน​จะ​พูด​หรือ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​แสดง​ว่า​ฉัน​เห็น​คุณค่า​คู่​ของ​ฉัน​ซึ่ง​เป็น​ผู้​หา​เลี้ยง​ครอบครัว?